สัมภาษณ์ครอบครัวน้องทอฝันและทอฟ้า (พี่แก้มป่องกะน้องน้ำปั่น)

เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณแม่คนเก่ง “คุณวาสนา มุ่งปั่นกลาง” คุณแม่ของด.ญ.ทอฝัน และด.ญ.ทอฟ้า มุ่งปั่นกลาง (พี่แก้มป่องและน้องน้ำปั่น) ผู้ที่สามารถนำลูกสาวทั้งสองสอบเข้าสาธิตเกษตรได้สำเร็จ หนังสือ “สอบสาธิตเตรียมชีวิตให้ลูกรัก” เป็นผลงานของเธอเอง มาดูกันครับว่า เธอมีวิธีการอย่างไรถึงทำให้ลูกสอบเข้าสาธิตเกษตรได้

คุณแม่ประกอบอาชีพอะไรครับ มีลูกกี่คน

เป็นคนทำหนังสือฟรีแลนซ์ค่ะ มีลูกสาวสองคน คนโตจะขึ้นป.4 ส่วนคนเล็กจะขึ้นป.2 ค่ะ

ทำไมถึงตั้งชื่อลูกสาวเป็นชื่อนี้ครับ ทั้งชื่อจริงและชื่อเล่นดูแปลกดี

ชื่อนี่คิดอยู่นานมากค่ะ คืออยากได้ชื่อไทยที่ดูมีพลังและน่ารักอยู่ในชื่อเดียวกัน ตอนแรกคิดชื่อที่ขึ้นต้นด้วยว.แหวนตามชื่อแม่ แต่ก็หาชื่อที่ถูกใจไม่ได้ ก็เลยต้องหาชื่อที่ขึ้นต้นด้วยท.ทหารตามชื่อพ่อ และในที่สุดก็ได้ชื่อทอฝันและทอฟ้าค่ะ

ตั้งแต่เล็กจนโตมาถึงตอนนี้ทั้งสองคนมีอะไรที่พิเศษหรือแปลกกว่าเด็กทั่วๆไปบ้างไหมครับ

ทั้งสองคนเหมือนเด็กทั่วไปนะคะ (หัวเราะ) คนโตเป็นเด็กเลี้ยงง่าย เป็นพี่ที่คอยดูแลน้องและรักน้องมาก ดูแลตัวเองได้ดี ส่วนคนน้องจะเป็นเด็กที่เรียกว่ามีปฏิภาณ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ต้องใช้ความรักและความเข้าใจเป็นพิเศษค่ะ

วัยอนุบาลให้เขาเรียนที่ไหนครับ

เรียนที่โรงเรียนอนุบาลเลิศวินิต บางบัวทองค่ะ เป็นโรงเรียนแนวบูรณาการและก็อยู่ใกล้บ้านมาก ใช้เวลาเดินทางไม่ถึงสิบนาทีค่ะ อนุบาลเลิศวินิตเป็นโรงเรียนเล็กๆ ที่ดีมากค่ะ คุณครูใส่ใจและดูแลเด็กดีมาก ไม่เร่งอ่านเขียน เน้นที่กระบวนการ ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข แต่เด็กที่จบอนุบาลสามที่นี่ทุกคนอ่านออกเขียนได้ค่ะ ลูกสาวทั้งสองคนชอบโรงเรียนนี้มาก

ทำไมคุณแม่ถึงคิดว่าต้องให้ทั้งสองคนนี้เรียนที่โรงเรียนสาธิตเกษตรครับ ได้แรงบันดาลใจมาจากไหน

ได้แรงบันดาลใจมาจากครอบครัวหนึ่งที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันค่ะ เด็กทั้งสองคนเป็นเด็กน่ารัก มีสัมมาคารวะ อ่อนน้อม เป็นเด็กอารมณ์ดี มีความคิดของตัวเอง กล้าแสดงออก เรียนเก่ง และก็เป็นนักอ่านด้วยกันทั้งคู่ค่ะ พอยิ่งรู้จักกันก็ยิ่งชื่นชม

และพอรู้ว่าทั้งคู่เรียนที่สาธิตเกษตร ก็รีบหาข้อมูลทันทีเลยค่ะ อยากให้ลูกมีความสุขและก็เรียนเก่งแบบนั้นบ้าง และยิ่งได้คุยกับคุณแม่ของน้องทั้งสองคนเรื่องโรงเรียน เรื่องแนวการสอน เรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนก็ยิ่งชื่นชอบ เหมือนเป็นโรงเรียนในฝันเลยค่ะ

แล้วคุณแม่เริ่มต้นลงมือปฏิบัติการอย่างไร

หาข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ ตอนนั้นข้อมูลก็ยังหาได้ยากกว่าตอนนี้มาก ในอินเทอร์เน็ตแทบไม่มีใครเอามาแชร์กันเลยค่ะว่าเด็กที่สอบเข้าสาธิตเกษตรได้โดยไม่ต้องใช้เงินมีอยู่จริงมั้ย ส่วนใหญ่มีแต่ข่าวลือที่ทำให้เสียขวัญว่าต้องบริจาคเจ็ดหลักขึ้นไป ต้องบริจาครถตู้ ใครไม่บริจาคไม่มีทางเข้าไปเรียนได้

แต่สุดท้ายก็โชคดีได้รู้จักผู้ปกครองสาธิตเกษตรท่านหนึ่งที่ปั้นลูกของตัวเองจนสอบเข้าได้โดยไม่ต้องใช้เงินเลย

แล้วคุณแม่ท่านนี้ก็ให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่า จริงๆ แล้วเด็กที่สอบเข้าได้ด้วยตัวเองมีอยู่จริง ทางโรงเรียนจะรับในส่วนนี้ 130 คน ส่วนอีก 150 คนรับจากลูกของบุคลากรในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงลูกหลานของผู้มีอุปการคุณต่อโรงเรียนด้วย และทั้งสองส่วนก็แยกกันชัดเจน

พอรู้อย่างนี้และมีคนช่วยยืนยันก็มีกำลังใจขึ้นมาทันทีเลยค่ะ คิดว่าจะทำยังไงให้ได้อยู่ในกลุ่ม 130 คน เริ่มวางแผนตั้งแต่เข้าอนุบาลเลยค่ะ

ลูกสาวคนโตคุณแม่เริ่มต้นติวจากอะไรก่อนครับ

อาจจะไม่ได้เรียกว่าติวนะคะ เป็นการเตรียมความพร้อมมากกว่าค่ะ ความจริงก็เตรียมความพร้อมกันมาตั้งแต่ในท้อง คือให้ฟังเพลงเพราะๆ อ่านนิทานให้ฟังทุกวัน และก็เล่นกันทุกวันค่ะ ขีดๆ เขียนๆ ต่อจิ๊กซอว์กันบ้าง ต่อบล็อก ปั้นดิน พาไปเที่ยว จนกระทั่งขึ้นอนุบาลสองถึงได้เริ่มเอาแบบฝึกหัดง่ายๆ มาให้ทำ และเริ่ม “ติว” แบบจริงจังก็ช่วงอนุบาลสาม ที่ให้เริ่มทำแบบฝึกหัดทุกวัน วันละหนึ่งชั่วโมงค่ะ

อะไรที่คุณแม่คิดว่าเป็นอุปสรรคที่ทำให้ท้อหรือยากที่จะไปถึงฝั่งฝัน และอะไรที่ทำให้คุณแม่คิดว่าฉันต้องทำได้

สิ่งที่ทำให้ท้อก็คือความคิดของตัวเองเลยค่ะ พอคิดว่ามีเด็กสอบประมาณสามพัน แต่มีเด็กที่จะเข้าไปได้แค่ 130 คน แล้วลูกเราจะได้เป็นหนึ่งในนั้นได้มั้ย แค่คิดก็ท้อแล้วค่ะ แต่ก็พยายามปลุกใจตัวเอง คิดว่ายังไงก็ขอสู้ซักตั้ง ในเมื่อไม่มีอะไรจะเสีย มีแต่ได้กับได้ ก็เลยวางแผนเป็นขั้นๆ ว่าจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อไปให้ถึงฝัน ถ้าไม่พยายามก็ไม่เห็นผลของความพยายามจริงไหมคะ คิดว่ายังไงทุกความสำเร็จก็ต้องใช้ความพยายามค่ะ

ตอนนั้นคุณพ่อเป็นอย่างไรบ้างครับให้ความร่วมมือดีไหม

ตอนนั้นคุณพ่อไม่เข้าใจค่ะ คุณพ่อคิดแค่ว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนๆ กัน แต่เราก็พยายามอธิบายว่าไม่เหมือน โรงเรียนก็เหมือนกับบ้านหลังที่สองของลูกเลยนะ ลูกต้องใช้ชีวิตอยู่ที่โรงเรียนทั้งวัน ถ้าสังคมโรงเรียนของลูกไม่ดี แล้วจะหล่อหลอมลูกออกมาเป็นแบบไหน ก็เลยยกตัวอย่างของเพื่อนคนหนึ่งสมัยเรียนป.ตรีให้คุณพ่อฟัง เพื่อนเล่าว่าในห้องเขาเป็นเด็กที่เรียนเก่งอยู่คนเดียว เขาต้องถูกเพื่อนๆ ในห้องซึ่งไม่ตั้งใจเรียนกลั่นแกล้งสารพัด เขาบอกว่าถ้าเขาได้เรียนในโรงเรียนที่เพื่อนๆ ใฝ่เรียนมากกว่านี้ เขาคงจะเก่งกว่านี้ แต่เขาก็ดีใจที่ผ่านจุดแย่ๆ นั้นมาได้

คุณพ่อได้ฟังก็ยังไม่คล้อยตามนักค่ะ จนกระทั่งพาลูกไปติวช่วงอนุบาลสาม คุณพ่อได้เห็นคะแนน ได้เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ของลูก ได้รับรู้ข้อมูลอะไรมากขึ้น เหมือนได้เปิดโลกของคุณพ่อ เพราะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ปกครองและคุณครูมากขึ้น คุณพ่อก็เริ่มคล้อยตามและช่วงหลังก็ช่วยสนับสนุนเต็มที่ค่ะ

แล้วระหว่างที่ติวลูกคนโต คนเล็กไม่เข้ามากวนหรือครับ คุณแม่มีวิธีแบ่งเวลาอย่างไร

ตอนนั้นคนเล็กยังเล็กมากค่ะ ตอนที่เริ่มติวแบบฝึกหัดให้พี่ คนเล็กอายุประมาณสองขวบกว่าๆ ช่วงเวลาที่ติวแบบฝึกหัดให้ลูกคนโตคือช่วงที่เขากลับมาจากโรงเรียนเลยค่ะ กลับมาถึงบ้านก็ให้พัก กินขนมนิดหน่อย ทำการบ้านที่โรงเรียนซึ่งมีวันละหน้าสองหน้า บางวันก็ไม่มีค่ะ พอการบ้านเสร็จ ก็เริ่มทำแบบฝึกหัดต่อเลยหนึ่งชั่วโมง

ช่วงที่พี่ทำแบบฝึกหัด คนเล็กก็จะถูกพาเข้ามุม เป็นมุมหนังสือนิทาน ตุ๊กตา ของเล่น โชคดีที่ลูกคนเล็กเป็นเด็กที่อยู่กับตัวเองได้ เล่นอะไรแล้วก็จะเล่นอยู่ตรงนั้นได้นานๆ ก็ถือเป็นความโชคดีไปค่ะ มีบ้างแค่บางวันที่งอแง พอทำแบบฝึกหัดเสร็จก็จะได้ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านค่ะ

ตอนนั้นคุณแม่หาโรงเรียนติวด้วยไหมครับ

หาค่ะ เพราะระหว่างที่ติวช่วงจบอนุบาลสอง ก็หาข้อมูลเรื่องแนวข้อสอบไปด้วย แต่มีน้อยมากค่ะ ด้วยความที่ไม่ใช่มืออาชีพ เลยเกิดความวิตกกังวลมากว่า ข้อสอบจะออกอะไรแนวไหน ทั้งที่ตัวเองก็ซื้อแบบฝึกหัดที่ขึ้นหน้าปกว่า “สอบสาธิต” ที่มีในท้องตลาดมาแล้วทุกเล่ม แต่ก็ไม่มั่นใจ คิดว่าถ้าพลาดไปจะทำยังไง ก็เลยหาครูติวค่ะ ซึ่งคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกค่ะ เพราะคุณครูสอนดีมาก ลูกอยากไปเรียนทุกครั้ง และทำให้ลูกมั่นใจขึ้นมากค่ะ

วันไหนที่คุณแม่โล่งใจที่สุด

วันที่สอบเสร็จค่ะ โล่งมาก รู้สึกว่าเราทำเต็มที่มาทุกอย่างแล้ว ก่อนสอบลูกเราหน้าตายิ้มแย้ม ออกมาจากห้องสอบลูกเราก็ยังยิ้มแย้ม แล้วก็บอกว่าตอนสอบสนุกมาก ครูเปิดการ์ตูนให้ดูด้วย แบบฝึกหัดของครูก็สนุกเหมือนของแม่เลย แค่นี้ก็รู้สึกมีความสุขและโล่งมากค่ะ ตอนนั้นไม่สนใจผลสอบเลยว่าจะเป็นยังไง รู้สึกเต็มที่แล้วจริงๆ

วันประกาศผลสอบคุณแม่อยู่ที่ไหน และรู้ผลสอบได้อย่างไร

เช้าวันประกาศผลก็ตื่นมาตั้งแต่ตีห้าค่ะ นั่งเช็คอินเทอร์เน็ต ก็ยังไม่มีใครเอามาโพสต์ให้ดู จะออกไปดูผลที่บอร์ด ลูกๆ ก็ยังไม่ตื่น และไม่อยากปลุกขึ้นมาแต่เช้า ก็เลยนั่งรอเช็คอินเทอร์เน็ตไปเรื่อยๆ ถามว่าในใจลึกๆ รู้สึกยังไง ตอนนั้นมั่นใจมากนะคะว่าลูกสอบติด แต่แค่ยังไม่มีอะไรมายืนยัน ก็เลยไปหาคุณพ่อที่กำลังนั่งอยู่หน้าจอเหมือนกัน ยืนคุยกันฆ่าเวลาไปเรื่อยๆ

คุณพ่อก็ถามว่า คิดว่าลูกจะสอบติดมั้ย ก็ตอบไปแบบมั่นใจว่าติดแน่นอน ตอนนั้นในใจแอบหวั่นอยู่นิดหน่อยนะคะ มีเสียงหนึ่งที่เถียงอยู่ในใจว่านี่เธอไปเอาความมั่นใจมาจากไหน แต่น้ำเสียงที่พูดกับคุณพ่อมั่นใจมาก

ระหว่างที่คุยไปคุยมาว่าเราจะไปดูผลที่บอร์ดดีมั้ย ข้อความหนึ่งก็เด้งขึ้นมาจากหน้าจอคอมฯของคุณพ่อ เพื่อนส่งมาว่า ขอแสดงความยินดีด้วยลูกสาวสอบติดสาธิตเกษตร

เมื่อรู้ผลว่าน้องแก้มป่องมีชื่ออยู่ในเด็กที่สอบติดโรงเรียนสาธิตเกษตรด้วย คุณแม่รู้สึกยังไงบ้าง ดีใจแค่ไหนครับ

ดีใจมากค่ะ กระโดดตัวลอยเลย น้ำตาไหลด้วย บอกไม่ถูกเลยค่ะ คือรู้สึกว่าความพยายามของเราที่ฟันฝ่ามานานหลายปีมันสำเร็จแล้ว และนี่ก็คือความสำเร็จของลูกด้วย ดีใจที่สุดค่ะ

คุณแม่วาสนากับน้องน้ำปั่นในวันสอบเข้าสาธิต

(คุณแม่วาสนากับน้องน้ำปั่นในวันสอบเข้าสาธิต)

คราวนี้มาถึงน้องเล็กบ้าง น้องน้ำปั่น ด.ญ.ทอฟ้า มุ่งปั่นกลาง คนนี้เมื่อเทียบกับพี่สาวแล้วมีอะไรที่แตกต่างเยอะไหมครับ

ทั้งสองคนมีความแตกต่างกันเยอะมากค่ะ แทบจะคนละขั้วกันเลย ด้วยความที่เป็นพี่คนโตกับน้องคนเล็กด้วยมั้งคะ คนโตจะสอนง่าย ให้ทำอะไรก็ทำ มีงอแงบ้างตามประสาเด็ก แต่ก็คุยกันด้วยเหตุผลได้ มีความมุ่งมั่นและก็ตั้งใจมากค่ะ

ส่วนคนเล็กจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก มีความเป็นศิลปิน มีโลกของตัวเอง ถ้าเธอบอกว่าไม่ ก็คือไม่จริงๆ ต่อให้เราพูดเหตุผลยังไงเธอก็จะ “ไม่” อย่างเดียว ต้องคอยจับทางให้ถูก ต้องพยายามเดาใจให้ได้ เรียกว่าต้องใช้จิตวิทยาขั้นสูงสุด ทุกอย่างต้องใช้ขั้นสูงสุดหมดค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการคิดหากลยุทธ์ที่ไม่ซ้ำเดิมในแต่ละวัน ความอดทนอดกลั้น การควบคุมอารมณ์ของแม่ ถ้าให้เปรียบก็คงคล้ายๆ เข็นครกสิบลูกขึ้นภูเขาค่ะ

ห่างกันกี่ปีครับพี่สอบปีไหนน้องสอบปีไหน

ห่างกัน 2 ปีค่ะ คนโตสอบเข้าปี 57 ส่วนคนเล็กสอบเข้าปี 59 ค่ะ

คนพี่เข้าได้แล้วเมื่อคนน้องจะต้องสอบเข้าบ้างกดดันไหมครับ

กดดันมากค่ะ รู้สึกกดดันยิ่งกว่าตอนคนโตนะคะ เพราะถ้าคนโตสอบไม่ได้ก็เรียนที่อื่นได้ แต่กับคนเล็กรู้สึกว่าไม่ได้ละ ห่วงความรู้สึกของเขาค่ะ คือถ้าพี่สอบได้และตัวเขาเองสอบไม่ได้ เขาจะรู้สึกยังไง แม้จะรู้ว่าถ้าเขาสอบไม่ได้ เขาก็ต้องมีทางของเขาเองอย่างแน่นอน และทางครอบครัวเราก็คงพยายามอย่างดีที่สุด แต่ก็อดห่วงความรู้สึกของลูกไม่ได้ค่ะ และก็กลัวคำพูดคนรอบข้างด้วย บางทีอาจจะพูดโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เด็กอาจจะรู้สึกได้ค่ะ ก็เลยพยายามเต็มที่และบอกกับตัวเองว่างานนี้พลาดไม่ได้

คราวนี้คุณแม่เริ่มต้นอย่างไรก่อน

เริ่มเตรียมความพร้อมเหมือนพี่ค่ะ แต่เพิ่มความเข้มข้น อ่านนิทานให้ฟังเยอะมาก แล้วก็เล่นกับเขาค่ะ พยายามให้เขาช่วยเหลือตัวเองให้ได้ บางครั้งก็ปล่อยให้เล่นอิสระ ซึ่งเขาก็เล่นคนเดียวได้นานๆ แล้วช่วงอนุบาลสามก็ให้ไปติวกับครูค่ะ

ยากไหมสำหรับคนนี้

ยากกว่าพี่หลายเท่าเลยค่ะ เวลาทำแบบฝึกหัดต้องใช้ลูกล่อลูกชนเยอะมาก ช่วงแรกๆ ต้องชวนบรรดาพี่หมี พี่นางฟ้า น้องกระต่ายมาทำแบบฝึกหัดด้วยกัน ต้องคิดเกมสนุกๆ ให้เล่น ต้องมีผลไม้อยู่ข้างๆ กินไปด้วยทำแบบฝึกหัดไปด้วย บางวันเขาเหนื่อยมาจากโรงเรียน ก็งอแงแบบไม่มีเหตุผล ร้องไห้ไม่หยุดหนึ่งชั่วโมงเต็ม จนจับได้ว่าร้องไห้เพราะง่วงนอน เลยจับนอน ก็หลับไปค่ะ วันนั้นก็เลยไม่ได้ทำแบบฝึกหัด บางวันกลับมาจากโรงเรียนแล้วเหนื่อยหรืออยากเล่นมากกว่าก็จะได้ทำแบบฝึกหัดน้อยลง

สำหรับคนเล็กจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าพี่ค่ะ แต่ช่วงหลังดีขึ้นมาก ชอบทำแบบฝึกหัด แล้วก็ชอบคิดโจทย์ให้แม่ทำ เล่นบทบาทสมมุติเหมือนตัวเองเป็นคุณครู คุณแม่เป็นนักเรียน เขาชอบกับบทบาทนี้มากค่ะ คุณแม่ก็แกล้งตอบผิด เขาก็จะอธิบายให้ฟังเหมือนอย่างที่เราเคยอธิบายเลยค่ะ ก็สนุกกันไปอีกแบบ

อะไรที่คุณแม่คิดว่าลำบากและยากที่สุดสำหรับลูกคนเล็ก

อารมณ์ค่ะ ต้องคอยจัดการกับอารมณ์ของลูกและอารมณ์ของตัวเอง บางทีก็เกือบเผลอปรี๊ดออกมา แต่ก็ต้องคอยทำให้อารมณ์ของตัวเองสงบลง เพราะถ้าเผลอปรี๊ดออกมาเมื่อไหร่ ทุกอย่างจะจบทันทีค่ะ เรียกกลับคืนมาไม่ได้ด้วย การทำแบบฝึกหัดวันนั้นก็ต้องยุติลงทันที เหมือนแก้วที่แตกไปแล้วต่อกลับคืนมาไม่ได้ยังไงยังงั้นเลยค่ะ

การติวลูกนี่จะว่าไปก็เหมือนการติวตัวเองด้วยนะคะ ได้อะไรหลายอย่างเลยจากการติวลูก ทำให้เข้าใจลูกมากขึ้น มีระดับของความอดทน ความยืดหยุ่น และความเมตตาสูงขึ้น เหมือนกับว่าเราได้อยู่ในช่วงของการปฏิบัติธรรมเลยค่ะ

คุณแม่ติวเองหรือว่าส่งเรียนโรงเรียนติวด้วย

ส่งติวด้วยเหมือนพี่คนโตค่ะ เพราะแม้ตัวเองจะเคยมีประสบการณ์การติวมาแล้ว แต่ก็ยังไม่มั่นใจในตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ค่ะ และคิดว่าการให้ลูกไปเรียนกับเพื่อนๆ จะช่วยให้ลูกได้เห็นเป้าหมายของตัวเองชัดขึ้น และรู้ตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ และก็คิดว่าบางทีแนวข้อสอบอาจจะเปลี่ยนได้ค่ะ การได้ไปเรียนก็จะช่วยให้ได้ข้อมูลมากขึ้น คนเล็กนี่จะติวเข้มกว่าพี่ค่ะ เพราะอย่างที่กล่าวไปในตอนแรกว่าคนนี้จะให้พลาดไม่ได้เลย

แล้วในวันที่จะต้องพาคนเล็กไปสอบจริงๆ คุณแม่มีอะไรที่กังวลต่างจากลูกคนโตบ้างหรือเปล่า

ตอนแรกๆจะห่วงและกังวลเรื่องอารมณ์ของเขามากค่ะ เพราะเวลาที่เขาไม่อยากทำอะไร เขาจะไม่ทำเลย อย่างเช่น ช่วงงานแสดงปิดภาคตอนจบอนุบาลสอง เขาจะต้องแสดงรำไทยบนเวที แต่ก่อนการแสดงจะต้องมีการซ้อม เขาก็ไม่ยอมซ้อม ร้องไห้ตลอด ทั้งที่ก่อนหน้านี้คุณครูก็ชมว่าเขารำสวยและจัดที่ให้รำอยู่ด้านหน้าเลย ครูก็พยายามบิ้วอารมณ์เต็มที่ คุณแม่ก็พยายามช่วย เพราะอยากให้เขาได้ขึ้นแสดง แต่เขาก็ตอบคำเดียวว่า “ไม่” ค่ะ

พอตอบมาแบบนี้ รู้เลยค่ะว่ายังไงก็ไม่มีทางเปลี่ยนใจเธอได้ คุณแม่ก็เลยต้องยอม แต่ชุดการแสดงอื่นๆ เขาก็ยอมขึ้นเวทีไปแสดงนะคะ ไม่อิดออดเลย

คุณแม่มาแอบถามทีหลังตอนที่เขาอารมณ์ดีว่าทำไมหนูไม่แสดงรำไทยล่ะคะ ครูบอกแม่ว่าหนูรำสวยนะ เขาก็บอกว่า หนูไม่ชอบไปซ้อมตอนกลางวัน เพื่อนๆ ได้กินข้าวก่อน แต่หนูได้กินทีหลัง แม่ถึงได้เข้าใจค่ะ ปกติเด็กอนุบาลสองจะได้ทานข้าวก่อน แต่เพราะเขาต้องไปเรียนกับพี่อ.3 ก็เลยต้องทานข้าวรอบเดียวกับพี่ เขาเลยไม่ชอบนั่นเอง ตอนนั้นรู้สึกดีใจที่ไม่ดุเขาไปก่อนหน้านั้นค่ะ

หลังจากนั้นก็เลยพยายามเข้าใจความรู้สึกของเขา รับฟังเขามากขึ้น สุดท้าย สิ่งที่กังวลว่าเขาจะยอมไปเรียนติวมั้ย ยอมไปลงสนามสอบจำลองมั้ย และท้ายที่สุดจะยอมขึ้นห้องสอบมั้ย เพราะถ้าเธอหลุดคำว่า “ไม่” ออกมา ทุกอย่างคงจบจริงๆ แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้ด้วยดีค่ะ

แล้วในวันประกาศผลคุณแม่ลุ้นมากไหม

ก็แปลกนะคะ หลังจากที่ลูกสอบเสร็จก็เกิดความมั่นใจมากว่าลูกสอบได้ค่ะ ครั้งนี้มั่นใจยิ่งกว่าตอนคนโตอีกค่ะ เพราะถามอะไรมาลูกเล่าออกมาได้หมด บอกได้ว่าข้อสอบมีอะไรบ้าง และส่วนใหญ่ลูกก็ตอบถูก รู้สึกปลาบปลื้มดีใจตั้งแต่วันที่ลูกสอบเสร็จเลยค่ะ และก็รู้สึกมั่นใจมาก

วันประกาศผล ไม่ลุ้นมากค่ะ แค่อยากเห็นชื่อบนบอร์ดเพื่อความแน่ใจ แต่ในใจรู้สึกมั่นใจมากค่ะ

ดีใจไหมครับลูกสาวสอบติดสาธิตเกษตรทั้งสองคนเลย

ดีใจมากค่ะ ทุกอย่างเป็นอย่างที่เราฝัน ดีใจที่ตัวเองได้ลงมือทำ ได้ทุ่มเท ได้เต็มที่กับมัน ดีใจที่เราและลูกเอาชนะตัวเองได้ค่ะ

นอกจากเรียนในโรงเรียนคุณแม่ได้พาทั้งสองคนไปเรียนหรือไปทำกิจกรรมอะไรเพิ่มอีกไหมครับ

มีเรียนว่ายน้ำแล้วก็ดนตรีค่ะ มีเรียนบัลเล่ต์ด้วยช่วงนึง แต่ตอนนี้ไม่ได้เรียนแล้วค่ะ

เรียนดนตรี เรียนอะไรบ้างครับ

ทั้งสองคนเรียนเปียโน ไวไอลิน และร้องเพลงที่โรงเรียนดนตรียามาฮ่าค่ะ จุดประสงค์คืออยากให้เขามีสมาธิ มีอีคิวที่ดี กล้าแสดงออก ได้ฝึกวินัย ฝึกใส่ใจในรายละเอียด มีงานอดิเรกทำเวลาว่าง และถ้าเขาชอบอย่างจริงจังก็สามารถเลือกเป็นอาชีพได้ในอนาคตค่ะ

เขาเรียนได้ดีไหม มีส่งประกวดแข่งขันอะไรบ้างหรือเปล่า

ทั้งคู่เรียนได้ดีค่ะ แต่ก็ต้องปลุกปั้นกันต่อไป ส่วนเรื่องการส่งประกวด ก็ส่งประกวดของยามาฮ่าเองค่ะ ที่ส่งไปประกวดก็เพื่อจะได้ฝึกพัฒนาฝีมือ ฝึกความอดทน ฝึกวินัยในการฝึกซ้อม จะว่าไปการประกวดก็ให้ประโยชน์หลายอย่างค่ะ ได้ฝึกความกล้าแสดงออก ฝึกการควบคุมตัวเองตอนขึ้นไปอยู่บนเวที ถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากๆ ค่ะ

ส่วนเรื่องรางวัลที่ได้รับเป็นแค่เรื่องรอง แต่ถ้าเรามุ่งมั่นแล้วทำได้สำเร็จ ความภาคภูมิใจก็จะตามมา แต่ถ้าผิดหวังก็จะได้เรียนรู้ว่าเราควรจะปรับปรุงตรงส่วนไหน ยังไง

จะสอนลูกเสมอค่ะว่าถ้าอยากได้รางวัลก็ต้องฝึกซ้อมให้เต็มที่ ไม่มีใครที่นั่งเฉยๆ แล้วจะได้รางวัล รางวัลจะตกเป็นของคนที่สมควรได้รับเท่านั้น อย่างคนที่ได้ที่ 1 ของประเทศ หนูไปสัมภาษณ์เขาได้เลยว่า เขาต้องมุ่งมั่นและทุ่มเทแค่ไหน คนที่เก่งขนาดนั้นเขาผ่านอะไรมาบ้าง ทุกอย่างคือการเรียนรู้ทั้งหมดค่ะ

คุณแม่ดีใจไหมครับที่ลูกสาวทั้งสองเก่งขนาดนี้

ดีใจค่ะ และก็ภูมิใจในตัวลูกสาวทั้งสองคนมาก แต่ที่สำคัญที่สุดคืออยากให้เขาเป็นคนเก่งที่ดีและมีความสุข อยากเห็นเขาเติบโตขึ้นอย่างงดงาม และทำประโยชน์กับเพื่อนร่วมสังคมให้มากที่สุดค่ะ

เมื่อลูกทั้งสองคนเข้าเรียนสาธิตเกษตรได้แล้วเป้าหมายต่อไปของคุณแม่คืออะไร

เป้าหมายต่อไปคือสนับสนุนสิ่งที่เขาอยากเป็นและสิ่งที่เขาอยากทำอย่างเต็มที่ค่ะ เพราะมั่นใจว่าสังคมสาธิตเกษตรจะช่วยหล่อหลอมให้เขาเป็นคนเก่งที่ดีและมีความสุขได้ค่ะ

โตขึ้นคิดไว้ไหมครับว่าเขาจะประกอบอาชีพอะไร อยากให้เขาเป็นอะไร

สิ่งที่อยากเห็นคือ อยากเห็นลูกมีความสุขกับสิ่งที่เป็นค่ะ ไม่คาดหวังหรือตั้งเป้าเลยค่ะว่าลูกจะต้องเป็นอะไร แต่ถ้าลูกอยากทำอะไร ก็จะสนับสนุนทุกทางอย่างเต็มที่ค่ะ

อะไรคือสิ่งที่คุณแม่อยากปลูกฝังให้ลูกมากที่สุด

อยากให้ลูกเป็นคนเก่งที่ดี มีความสุขกับสิ่งที่ทำ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน รู้จักรักและแบ่งปันค่ะ

คุณแม่มีวิธีเลี้ยงลูกอย่างไรที่คิดว่าแตกต่างจากครอบครัวอื่นๆและเป็นการเลี้ยงลูกในสไตล์ของคุณแม่เอง

คิดว่าวิธีการเลี้ยงลูกไม่น่าจะแตกต่างจากบ้านอื่นนะคะ ถ้าจะมีก็คงเป็นการปลูกฝังการรักการอ่านตั้งแต่เด็ก ซึ่งก็ได้ผลดีมากค่ะ ทั้งสองคนติดหนังสือมาก ไปไหนก็จะพกหนังสือไปอ่านตลอด นั่งรอกินอาหารก็เอาหนังสือมาอ่านรอ นั่งรอเรียนก็อ่านหนังสือ เรียกร้องจะเข้าร้านหนังสือแล้วก็นั่งอ่านอยู่ได้นานๆ ถ้าไม่เรียกให้กลับก็ไม่ยอมกลับกันเลยค่ะ

ไปงานหนังสือแต่ละครั้งก็จะได้หนังสือมาคนละไม่ต่ำกว่ายี่สิบเล่ม พ่อแม่กระเป๋าลีบไปตามๆ กัน แต่ที่บ้านจะไม่ให้ลูกเล่นโทรศัพท์หรือดูทีวีเลย คือถ้าให้ดูก็จะเป็นแค่การ์ตูนหรือรายการในยูทูปที่เราเลือกแล้ว และก็นั่งดูด้วยกันค่ะ

อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณแม่ตัดสินใจเขียนหนังสือ “สอบสาธิตเตรียมชีวิตให้ลูกรัก”

แรงบันดาลใจทั้งหมดมาจากผลสำเร็จที่ลูกสอบเข้าสาธิตเกษตรได้ค่ะ จุดเริ่มต้นคือแค่รู้สึกว่าอยากเขียนบันทึกเล่าเส้นทางทั้งหมดไว้ให้ลูกอ่าน อยากให้ลูกรู้ว่าเราผ่านอะไรกันมาบ้าง อยากเก็บเป็นความทรงจำดีๆ ไว้ให้ลูกค่ะ

แต่เขียนไปเขียนมา บรรณาธิการสำนักพิมพ์ทูเดย์บอกว่าทำเป็นพ็อกเกตบุ๊คส์ได้ เป็นแนวทางและสร้างแรงบันดาลใจให้คุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นที่อยากให้ลูกสอบเข้าสาธิตได้ดีเลย ก็เลยตัดสินใจทำเป็นพ๊อกเกตบุ๊คส์ และก็เพิ่มเนื้อหาอื่นๆ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์เข้าไป เพื่อให้หนังสือออกมาแล้วเป็นประโยชน์สูงสุดค่ะ

ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้างจะมีเล่ม 2 ออกมาเร็วๆ นี้ไหมครับ

ผลตอบรับดีเกินคาดค่ะ มีเสียงตอบรับเข้ามามากมาย หลายคนบอกว่าได้ข้อมูลที่ถูกต้อง หลายคนบอกว่าได้แรงบันดาลใจ หลายคนมีกำลังใจที่จะทำสิ่งดีๆ เพื่อลูก เป็นเสียงตอบรับที่ดีมากค่ะ ส่วนเล่ม 2 ขอคิดก่อนนะคะ ตอนนี้กำลังคิดประเด็นอยู่ค่ะ

อยากฝากอะไรถึงคุณพ่อคุณแม่ที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้บ้างครับ

อยากฝากคุณพ่อคุณแม่ว่า โรงเรียนสาธิตไม่ใช่คำตอบทุกอย่างของชีวิต ถ้าสอบไม่ติด ชีวิตไม่ได้ติดลบค่ะ ทั้งครอบครัวจะได้เรียนรู้บทเรียนที่มีค่าด้วยกัน ความรักความผูกพันในครอบครัวจะเหนียวแน่นขึ้น

แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการสอบสาธิตก็คือ การพัฒนาลูก ถ้าเรากล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูลูกอย่างดีตั้งแต่เล็กๆ ผลที่ได้รับ มันคือความชื่นใจของพ่อแม่ที่ไม่อาจหาอะไรมาเทียบได้ค่ะ

และน่าจะมีหลายครอบครัวที่อยากให้ลูกสอบเข้าโรงเรียนสาธิตได้เช่นกัน จะแนะนำอย่างไรดีครับ

อย่างแรกคือต้องเชื่อมั่นว่าเราและลูกของเราทำได้ เชื่อมั่นในตัวเรา เชื่อมั่นในตัวลูกของเรา แล้วเดินหน้าไปด้วยกันอย่างเต็มที่ ถ้าเราเชื่อว่าเราทำได้เราก็จะทำได้ค่ะ และทุกคนย่อมได้รับผลที่สมควรได้รับ

ปักธงลงไป วางแผนให้ดี แล้วทำให้เต็มที่ ความสำเร็จมักทิ้งร่อยรอยไว้ให้เราได้ติดตามเสมอ ตามร่องรอยเหล่านั้นไป แล้วทุกอย่างจะดีเองค่ะ ขอให้ทุกบ้านที่มุ่งมั่นตั้งใจสมหวังนะคะ 

«เรื่องที่เกี่ยวข้อง»

แนะนำแบบฝึกหัดสอบเข้าสาธิต
พ่อแม่เด็กสาธิต ต้องอย่างนี้

9 เคล็ดลับ ชวนลูก ทำแบบฝึกหัด ให้สนุก และได้ผล
ติวกับครู หรือ ติวเองดี
เกณฑ์อายุสอบเข้าสาธิต
เราไม่ใส่ความคาดหวังลงไปในใจลูกดีกว่าไหม
ความดี 7 ข้อของโรงเรียนสาธิต
เราได้อะไรจากการพาลูกสอบสาธิต
คุณพ่อไอที แนะปิดทีวีและมือถือ อ่านหนังสือดีกว่า
ปรับตัวเตรียมใจก่อนพาเด็กไทยลุย “กัวลาลัมเปอร์”
ลุ้นผลลูกคนแรกสอบเข้าสาธิตเกษตร 
ลุ้นผลลูกคนที่สองให้เรียนที่เดียวกับพี่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *