สอบเข้าป.1

4 วิธีใหม่ คัดเลือกเด็กเข้าป.1 ดีจริงหรือไม่ ตามไปดู

ถ้าไม่สอบเข้า .1 แล้วจะคัดเลือกเด็กอย่างไร
จับสลาก ยื่น portforio หรือให้พ่อแม่ของเด็กเป็นคนสอบ!!

ถ้าหากไม่จัดสอบคัดเลือกแบบเดิม แต่ยังมีความต้องการของผู้ปกครองที่จะให้เด็กเข้าเรียนโรงเรียนดัง จะเปลี่ยนไปใช้วิธีใด จนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่เท่าที่มีกล่าวกันมา ขอรวบรวมไว้ดังนี้

1. แทนที่จะให้เด็กสอบ ก็เปลี่ยนมาเป็นให้ “พ่อแม่สอบแทน” เพราะในเมื่อพ่อแม่ต้องการให้เด็กสอบดีนัก ก็ให้พ่อแม่นั่นแหละเป็นคนสอบเองซะเลย คำถามต่อมาคือ แล้วพ่อแม่สอบอะไร สอบความรู้หรือสอบสัมภาษณ์ แล้วเกณฑ์การได้รับคัดเลือกขึ้นอยู่กับอะไร

2. “จับสลาก” วิธีนี้ น่าจะเป็นวิธีที่ยุติธรรมที่สุดสำหรับทุกคน แต่…ไม่น่าจะเป็นวิธีที่ส่งเสริมความฉลาดให้กับเด็กๆ และสังคม เพราะดูแล้วเหมือนการศึกษาของเด็กถูกผูกไว้กับดวง โชควาสนา แทนที่เด็กๆ จะได้พัฒนาความรู้ความสามารถ อาจจะกลายเป็นพ่อแม่พาไปวัดโน้น วัดนี้ หรือเจ้าพ่อคนโน้นคนนี้ ให้ช่วยรดน้ำมนต์ หรือสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้จับสลากได้ แทนที่การศึกษาของไทยจะก้าวหน้า กลายเป็นว่า กลับยิ่งถอยหลังลงคลองมากกว่าเดิมเสียอีก

3. “ยื่น portforio” หรือส่งความสามารถของเด็กให้โรงเรียนพิจารณา คล้ายๆ กับระบบ TCAS ในการคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ที่กำลังมีเรื่องปวดหัวให้ตามแก้กันมากมายอยู่ในตอนนี้

แบบนี้ก็ยากอีก เพราะความสามารถของเด็กแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน และมีช่องโหว่เปิดโอกาสให้ทุจริตได้ง่าย อีกอย่าง ถ้าต้องยื่นจริง พ่อแม่นั่นแหละก็จะรีบพาลูกไปสะสมความสามารถติดตัว รีบพาไปเรียนกีฬา ดนตรีอีกมากมาย เพื่อให้คุณสมบัติเพียบพร้อม แต่บ้านไหนมีเงินน้อยก็ลำบาก ความเหลื่อมล้ำทางสังคมยิ่งสูงขึ้นไปอีก

4. “บ้านใครอยู่ใกล้ได้เรียน” วิธีนี้ อาจจะดีตรงที่ทำให้เด็กไม่ต้องตื่นเช้าไปโรงเรียน และเป็นการแก้ปัญหาการจราจรอีกทางหนึ่ง แต่สิ่งที่ตามมาคือ ด้วยความที่พ่อแม่อยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนดังๆ ก็จะมีการย้ายทะเบียนบ้าน บางที่ถึงขั้นเปิดให้เช่าทะเบียนบ้านกันเลยทีเดียว

เท่าที่ลองดู 4 แบบข้างต้น ก็ยังมองไม่เห็นว่า วิธีไหนน่าจะดีและเหมาะสมกว่าการจัดสอบคัดเลือก อาจจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ แต่เรายังคิดกันไม่ออกก็ได้

มุมดีๆ ของการสอบมีไหม

ที่จริงแล้ว การสอบเข้าป.1 แบบเดิม ก็ยังมีมุมดีๆ อยู่เช่นกัน นั่นคือ ตัวอย่างเช่นการสอบเข้าโรงเรียนสาธิต สิ่งที่เด็กสอบก็คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ เชาวน์ปัญญา และความรู้รอบตัว

4 วิชานี้ ก็มักเป็นเรื่องที่อยู่รอบตัวเด็กนั่นเอง และไม่มีสิ่งใดที่น่าจะยากเกินที่เด็กจะเรียนรู้

ภาษาไทย 

เน้นไปที่ทักษะการฟังแล้วจับใจความ โดยตอบคำถามจากเรื่องที่ได้ฟัง รู้จักพยัญชนะต้น สระ ตัวสะกด วรรณยุกต์ และคำตรงข้าม คำลักษณนาม

คณิตศาสตร์

เรื่องที่ใช้สอบก็คือ การบวกลบง่ายๆ และเด็กจะต้องตีโจทย์ได้ ซึ่งมักจะเป็นเรื่อง รูปทรง การนับจำนวน การนับลด-นับเพิ่ม การชั่งตวงวัด การเปรียบเทียบ ความรู้เรื่องเงิน ปฏิทิน และเวลา ง่ายๆ ตามวัย

ความรู้รอบตัว

เป็นเรื่องราวรอบตัวเด็ก เริ่มจากของใช้ในบ้าน ครอบครัว ชุมชน ข่าวสาร สถานการณ์ในปัจจุบัน วันสำคัญ อาชีพต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เด็กได้เห็นและสัมผัสจริง

เชาวน์ปัญญา

ทักษะการสังเกต การจำแนก การคิดวิเคราะห์ คิดเชื่อมโยง คิดพลิกแพลง ซึ่งจะดูว่า เด็กแต่ละคนนั้นมีทักษะด้านนี้มากน้อยแตกต่างกันอย่างไร

ถ้าพ่อแม่ไม่เครียดกับการสอบมากจนเกินไป แต่เป็นการฝึกให้เด็กได้ทดสอบทำแบบฝึกหัดบ่อยๆ ทำน้อยๆ แต่ทำทุกวัน สิ่งที่ได้กลับมา กลับไม่ใช่เพียงแค่ความรู้ แต่สิ่งนี้ เรียกว่า วิชาชีวิตอย่างหนึ่ง นั่นคือ “การมีวินัย” ในการทำแบบฝึกหัด

การมีวินัย จะทำให้เด็กได้ฝึกฝนพัฒนาตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ วินัยนี้ ยิ่งฝึกตั้งแต่เล็กเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะคนเราถ้าเป็นคนมีวินัยแล้ว ก็จะติดตัวไปทั้งชีวิต

ในทางกลับกัน ถ้าโตขึ้นมาเป็นคนไม่มีวินัย แล้วต้องมาเคี่ยวเข็ญบังคับให้ทำตามกฎระเบียบ ก็จะรู้ได้เลยว่า ทำได้ยากมาก ถึงยากสุดๆ

และบางเรื่องที่ต้องได้เห็นและสัมผัสจริง ก็เป็นโอกาสที่พ่อแม่ควรจะได้พาลูกได้เรียนรู้ส่ิงต่างๆ เช่น พาไปจ่ายตลาด พาไปทำบุญที่วัด หรือพาไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงเล่าเรื่องราวรอบตัวให้เด็กๆ ฟังด้วย ก็จะทำให้เด็กเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัวเหล่านี้ได้ และเป็นการสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูกด้วย

ข้อสอบยากขึ้นทุกปีจริงหรือไม่

เรื่องของข้อสอบเข้าป.1 ที่มีบางสื่อติติงว่า ยากขึ้นทุกปี และบางทีก็ยากจนเกินกว่าเด็กในวัยนั้นจำเป็นต้องรู้ หากพิจารณาให้ดีแล้วจะพบว่า ข้อสอบแต่ละปีนั้น ไม่ได้ยากขึ้นอย่างที่บางสื่อเข้าใจกันไปเลย ข้อสอบที่ออกมาในแต่ละปี มักจะเป็นเรื่องที่อยู่รอบๆ ตัวเด็กนั่นเอง เพียงแต่พลิกแพลงเป็นเรื่องต่างๆ แตกต่างกันไปในแต่ละปี

หากแต่สิ่งที่ยากนั้น เรามักจะพบว่า บางสำนักติวที่พ่อแม่ยอมเสียเงินมากมายไปติว ก็พยายามออกข้อสอบมาทดสอบเด็กให้ยากกว่าปกติ เพราะเข้าใจว่า ถ้าเด็กรู้มากกว่าเด็กในวัยเดียวกันแล้ว ก็น่าจะทำให้เก่งกว่าเพื่อนในระดับเดียวกัน และเป็นการป้องกันเผื่อว่า ข้อสอบจะยากกว่าทุกปี

และเป็นการให้พ่อแม่มั่นใจได้ว่า มาเรียนที่สำนักติวนี้ เด็กเก่งกว่าเดิมอย่างแน่นอน ซึ่งบางทีความเก่งที่เพิ่มขึ้นมานั้น อาจไม่จำเป็นต่อการสอบเข้าป.1 ที่โรงเรียนจัดสอบเลยก็ได้

ฉะนั้น บางครั้งก็ไม่น่าจะแปลกใจอะไรเลย หากมีเด็กบางคนสอบเข้าได้ โดยไม่ได้ผ่านสำนักติวใดๆ หากแต่เพราะคุณพ่อคุณแม่ของเด็กคนนั้นให้เวลากับลูกอย่างสม่ำเสมอ และสอนให้เด็กได้มีความรู้รอบตัวอย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมหนึ่งที่ดีมากๆ ของสาธิตเกษตร ก็คือ ให้เด็กๆ ได้ช่วยกันทำบริการสังคม

กิจกรรมหนึ่งที่ดีมากๆ ของสาธิตเกษตร ก็คือ ให้เด็กๆ ได้ช่วยกันทำบริการสังคม

สิ่งที่ควรจะเป็น ควรเป็นอย่างไร

สมองของเด็กในช่วงปฐมวัยตั้งแต่ 0 จนถึง 8 ขวบนั้นมีการพัฒนาและเติบโตอย่างมาก หากเด็กๆ ได้รับการส่งเสริมที่ดี ได้เล่น ได้เรียนรู้อย่างเพียงพอ ก็จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ และฉลาดสมวัย พร้อมต่อยอดให้เรียนรู้สิ่งที่ยากขึ้นในวัยที่สูงกว่า

แต่ด้วยความเครียดที่พ่อแม่หยิบยื่นให้ จากการคาดหวังว่า ลูกของฉันต้องได้เรียนที่นั่นที่นี่ อาจทำให้เกินกว่าที่เด็กจะรับไหว และอาจส่งผลให้ความเครียดนั้นทำให้สมองของเด็กพัฒนาแค่บางส่วน ตามที่ถูกกระตุ้น และสิ่งที่ควรจะได้เรียนรู้จากการเล่น หรือมารยาทในการเข้าสังคมด้วยการเล่นกับเพื่อนๆ ขาดหายไป

สิ่งที่น่าจะดีก็คือ คงต้องกลับมาที่พ่อแม่ เพราะนี่คือผู้ที่เด็กให้ความไว้วางใจที่สุด การฝากความหวังและเด็กไว้กับสำนักติวไม่น่าใช่วิธีที่ถูกต้องนัก หากจะมีต้องติวบ้าง ก็ควรเล็กน้อยพอให้รู้แนวทาง แต่ไม่ควรถึงขั้นพาเด็กไปเรียน 2-3 แห่ง ทำให้เด็กเครียด และเวลาเล่นของเด็กๆ ขาดหายไปอย่างน่าเสียดาย

ดังนั้น เมื่อเด็กได้เล่น ตามเวลาที่ควรจะได้เล่น ได้เรียนรู้กับพ่อแม่ พัฒนาการของเด็กก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องได้เรียนในโรงเรียนที่พ่อแม่คาดหวังเสมอไป

เห็นด้วยหรือไม่ เรื่องการยกเลิกสอบเข้าป.1

1. อยากให้มีพ.ร.บ.นี้ออกมาหรือไม่
2. ถ้าไม่สอบ จะใช้วิธีไหนคัดเลือกเด็กเข้าโรงเรียน 
3. “การจัดสอบพ่อแม่” “การสัมภาษณ์พ่อแม่”  “การส่ง portforio” “การจับฉลาก” หรือ “การใช้วิธีใครบ้านใกล้ก็ได้เรียน” แบบไหนเป็นวิธีที่ดีและถูกใจท่านที่สุด

ร่วมกันแสดงความคิดเห็นที่คอมเม้นต์ด้านล่างได้เลยครับ

ยกเลิกสอบเข้าป.1 เรื่องจริงหรือแค่ข่าวลือ!!
〉แนะนำแบบฝึกหัดสอบเข้าสาธิต
〉พ่อแม่เด็กสาธิต ต้องอย่างนี้

〉ติวกับครู หรือ ติวเองดี
〉เกณฑ์อายุสอบเข้าสาธิต
〉เราไม่ใส่ความคาดหวังลงไปในใจลูกดีกว่าไหม
〉ลุ้นผลลูกคนที่สองให้เรียนที่เดียวกับพี่
〉สัมภาษณ์ครอบครัวน้องทอฝันและทอฟ้า (พี่แก้มป่องกะน้องน้ำปั่น)
〉ความดี 7 ข้อของโรงเรียนสาธิต
〉เราได้อะไรจากการพาลูกสอบสาธิต

4 thoughts on “4 วิธีใหม่ คัดเลือกเด็กเข้าป.1 ดีจริงหรือไม่ ตามไปดู

  1. แบบเดิมคือสอบคัดเลือกก่อนสอบสัมภาษณ์
    แต่แบบใหม่ขออนุญาตเสนอเป็นสอบสัมภาษณ์ก่อนสอบคัดเลือก

    ความเป็นเด็กเรื่องของ EQ เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ดังนั้นควรจะ

    ขั้นที่ 1 สอบสัมภาษณ์เด็กเพื่อวัดความพร้อม EQ โดยมีกรอบการประเมินที่ชัดเจน
    เมื่อมีผลผ่าน ถึงจะได้สอบคัดเลือกต่อในขั้นที่ 2
    ขั้นที่ 2 สอบคัดเลือกเพิื่อวัดความพร้อม IQ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ความรู้รอบตัว เชาวน์ปัญญา (ไม่น่ายกเลิกเพราะนี่คือพ้ืนฐานสำคัญ)

    เพื่อความเป็นกลางและความยุติธรรมสำหรับเด็กทุก ๆ คน

    1. วิธีนี้ น่าสนใจ ฝากให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาต่อครับ

  2. เห็นด้วยครับ อยากให้ประเมินศักยภาพเด็กแทนการสอบ เช่น มารยาทไทย สัมภาษณ์เด็ก ผู้ปกครอง

    1. ขอบคุณครับ แสดงว่า เด็กๆ แทนที่จะต้องมานั่งสอบ คือให้แสดงให้เห็น เล่นให้ดูแทนใช่ไหมครับ รวมถึงผู้ปกครองด้วยใช่เปล่าครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *