ยกเลิกสอบเข้าป.1 เรื่องจริงหรือแค่ข่าวลือ!!
ยกเลิกสอบเข้าป.1 เรื่องจริงหรือแค่ข่าวลือ!!
เรื่องนี้ต้องถามใคร ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย ไปถึงไหนแล้ว
เมื่อไม่นานมานี้ คุณพ่อคุณแม่คงได้เห็นข่าวตามสื่อต่างๆ ที่ว่า คณะอนุกรรมการเด็กเล็กได้เห็นพ้องต้องกันร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเนื้อหาหนึ่งในนั้น ก็คือ ห้ามมิให้โรงเรียนมีการจัด “สอบคัดเลือกเข้าป.1” ในระดับอนุบาลจนถึง 8 ขวบ
ข้อความนั้น ระบุไว้ชัดเจนว่า
“…การรับเด็กปฐมวัยเพื่อเข้ารับการพัฒนาในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติโดยวิธีสอบคัดเลือกจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”
ซึ่งถ้าเป็นไปตามพ.ร.บ.นี้ นั่นก็หมายความว่า การสอบเข้าป.1 ของโรงเรียนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสาธิตเช่น สาธิตเกษตร สาธิตจุฬาฯ สาธิตประสานมิตร หรือโรงเรียนในเครือคาทอลิคต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบกันทุกโรงเรียน
มาตรการนี้นอกจากจะร่างออกมาเพื่อเป็นนโยบายแล้ว สิ่งที่ติดมาด้วยนั่นก็คือ กฎหมายบังคับว่า หากมีการฝืนจัดสอบ โรงเรียนก็จะถูกปรับ 500,000 บาท และข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้รับจากสื่อต่างๆ คือ ถ้าหากมีกรณีการฝากเข้า โรงเรียนก็จะถูกปรับอีก 10 เท่าของจำนวนเงินที่ฝาก!!
และถ้าหากมีการฝ่าฝืนเกิน 3 ครั้งก็ควรจะยึดใบอนุญาตโรงเรียนไปเลย!!!
ฟังดูแล้วรุนแรง มีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่ก็น่าจะทำให้โรงเรียนระดับประถมศึกษาหลายๆ โรงเรียน ต้องรีบนำร่างพ.ร.บ.นี้มาพิจารณา เพื่อดูว่าจะต้องรับมือ และปรับตัวทำอย่างไรให้ถูกต้องตามนโยบายต่อไป
เพราะเหตุใดจึงต้องมีร่างพ.ร.บ.นี้ออกมา
หลายฝ่ายมองว่า ณ ตอนนี้ การสอบเข้าป.1 ของโรงเรียนต่างๆ มีการแข่งขันกันแทบไม่แตกต่างจากเด็กโตเลย
ยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนสาธิตที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในขณะนี้แล้วนั้น เด็กที่เข้าสอบเกือบ 3,000 คนแต่ที่สอบติดได้แค่ไม่ถึง 200 ที่นั่ง อัตราส่วนแทบจะ 1:30 กันเลยทีเดียว ดูแล้วอาจแข่งกันเทียบเท่าสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรืออาจจะรุนแรงกว่าก็ได้
สิ่งเหล่านี้ ทำให้เด็กเครียดเพราะการแข่งขันก่อนเวลาอันควร แทนที่จะได้เล่นอย่างเป็นอิสระ กลับต้องมานั่งทำแบบฝึกหัดอย่างเอาจริงเอาจัง หรือต้องไปนั่งเรียนพิเศษในวันเสาร์อาทิตย์ แทนที่จะได้ไปเที่ยวเล่นตามที่อยากไปบ้าง
พ่อแม่หลายบ้านต่างก็เครียดเพราะต้องการให้ลูกสอบเข้าได้ เอาจริงเอาจังมาก ยิ่งคาดหวังก็ยิ่งเครียด แน่นอนว่า ความเครียดนั้นก็ยักย้ายถ่ายเทไปถึงลูกไม่มากก็น้อย บังคับให้ลูกไปเรียนพิเศษ โดยที่ลูกเองบางทียังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า ทำไมต้องไปเรียน ทำไมต้องไปสอบแข่งขันกับเพื่อนๆ ด้วย
นอกจากนี้ อย่างที่ว่า โรงเรียนที่จัดสอบรับได้แค่ประมาณ 100-200 คน ดังนั้นก็จะต้องมีเด็กที่ผิดหวัง ไม่สามารถเข้าไปเรียนได้ถึง 2,000 กว่าคน
เด็กเหล่านี้ ถ้าไม่ได้คิดอะไรมากก็ดีไป แต่น่าจะมีจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกได้ถึงความเป็น “ผู้แพ้” ในเกมการสอบคัดเลือกนี้ ถึงแม้พ่อแม่จะพยายามคิดว่า แค่ลองดูเฉยๆ ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ประสบการณ์นี้ก็น่าจะติดตัวเด็กไปอีกนาน
นอกจากความเครียดของเด็กแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมการมองก็คือ เมื่อมีการจัดสอบ ก็จะส่งผลให้เด็กเก่งมา “กระจุก” รวมตัวกันอยู่ในโรงเรียนที่ได้รับความนิยม แล้วก็จะสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน ทำให้ความนิยมโรงเรียนนั้นเข้มข้นรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก ไม่รู้จบ
เมื่อเปลี่ยนจากการสอบแข่งขัน ไปเป็นวิธีอื่น อาจจะช่วยให้เด็กเก่งกระจายกันออกไปอยู่โรงเรียนต่างๆ ช่วยสร้างชื่อเสียงและช่วยพัฒนาเด็กในวัยเดียวกันให้เก่งมากขึ้น
เพราะเหตุใด พ่อแม่ของเด็กถึงต้องการให้เด็กเข้าเรียนในโรงเรียนที่ได้รับความนิยม
เท่าที่รวบรวมมา สาเหตุต่างๆ มีดังนี้
1. มาตรฐานของโรงเรียนในประเทศไทยแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการสอนของคุณครู ความกว้างแคบของสถานที่ อุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน และจำนวนของครูในอัตราส่วนที่ต้องดูแลนักเรียน
2. สังคมและสภาพแวดล้อมในโรงเรียนต่างกัน บางโรงเรียนสังคมเพื่อนไม่น่าใว้ใจ ทำให้พ่อแม่ไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตัวเด็ก
3. เมื่อหันไปหาโรงเรียนทางเลือกของเอกชนที่มีการเรียนการสอนที่พร้อม ก็ต้อง “กระอัก” กับค่าเทอมที่เริ่มต้นไม่ต่ำกว่าเลขหกหลัก
4. บางโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนสาธิตได้เรียนยาว เข้าป.1 เรียนยาวถึง ม.6 ไม่ต้องเครียดกับการสอบแข่งขันที่จะมีในช่วง สอบเข้าม.1 หรือสอบเข้าม.3
5. บางโรงเรียนแม้จะอยู่ไกลจากบ้าน ต้องออกเดินทางเช้าหน่อย แต่ถ้าเทียบกันกับการได้สังคมกลุ่มเพื่อนที่ดี ได้ทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย และค่าเทอมไม่แพง ก็นับว่าคุ้มแสนคุ้ม

แก้มป่องกำลังเล่นสนุกกับเพื่อนๆ สาธิตเกษตร
ตอนนี้ พ.ร.บ.อยู่ขั้นตอนไหน และจะประกาศใช้เมื่อไหร่
ถึงแม้ว่า คณะอนุกรรมการเด็กเล็กจะเห็นพ้องต้องกันเสนอขึ้นมาแล้ว แต่สิ่งที่ต้องเสนอต่อ ก็ต้องผ่านกระทรวง ผ่านครม. เพื่อนำไปสู่กระบวนประชาพิจารณ์ และจึงไปสู่ชั้น สนช. อีกทีหนึ่ง ถึงจะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้
ที่ผ่านมาได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น แนวทางการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ไปแล้ว ตามวันเวลาดังนี้
8 ธันวาคม 2560 ณ คุรุสภา กรุงเทพมหานคร
16 ธันวาคม 2560 ณ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กรุงเทพมหานคร
22 มกราคม 2561 ณ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กรุงเทพมหานคร
และการรับฟังความเห็น 4 ภูมิภาค ตามวันเวลาดังนี้
ครั้งที่ 1 16 สิงหาคม 2560 ณ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กรุงเทพมหานคร
ครั้งที่ 2 26 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมธนินทร กรีน ปาร์ค จังหวัดร้อยเอ็ด
ครั้งที่ 3 16 ธันวาคม 2560 ณ โรงแรงเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่
ครั้งที่ 4 3 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมวรบุรีอโยธยา คอนเวนชั่น รีสอร์ท จังหวัดอยุธยา
ครั้งที่ 5 9 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมบรรจงบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ดูๆ แล้วไม่น่าจะเป็นพ.ร.บ.ที่คลอดง่ายๆ คงต้องรอดูกันต่อไป
แล้วจะออกมาทันปีการศึกษา 2562 นี้ไหม คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองเด็กที่จะต้องสอบปี 2562 นี้ต้องทำอย่างไร
ตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศออกมาบังคับใช้ ลงวันที่แน่นอน ตราบนั้น ทางโรงเรียนก็น่าจะดำเนินการในการจัดสอบในรูปแบบเดิมอยู่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ควรลงมือทำในสิ่งที่ควรทำ ดังนั้น หากจำเป็นต้องฝึกให้เด็กทำแบบฝึกหัดบ่อยๆ สม่ำเสมอ ก็ต้องทำ
แต่ถ้าหาก พ.ร.บ.ออกมาบังคับใช้ทัน ไม่มีการจัดสอบ เด็กๆ ก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะการได้ฝึกทำแบบฝึกหัดอย่างต่อเนื่อง เป็นการฝึกพัฒนาตน ฝึกวินัย ฝึกความรับผิดชอบอย่างหนึ่งนั่นเอง
ที่มาของข้อมูล: //www.thaiedreform.org
〉4 วิธีใหม่ คัดเลือกเด็กเข้าป.1 ดีจริงหรือไม่ ตามไปดู
〉แนะนำแบบฝึกหัดสอบเข้าสาธิต
〉พ่อแม่เด็กสาธิต ต้องอย่างนี้
〉ติวกับครู หรือ ติวเองดี
〉เกณฑ์อายุสอบเข้าสาธิต
〉เราไม่ใส่ความคาดหวังลงไปในใจลูกดีกว่าไหม
〉ลุ้นผลลูกคนที่สองให้เรียนที่เดียวกับพี่
〉สัมภาษณ์ครอบครัวน้องทอฝันและทอฟ้า (พี่แก้มป่องกะน้องน้ำปั่น)
〉ความดี 7 ข้อของโรงเรียนสาธิต
〉เราได้อะไรจากการพาลูกสอบสาธิต
//pantip.com/topic/33292268