คุณพ่อไอที แนะปิดทีวีและมือถือ อ่านหนังสือดีกว่า
ครอบครัวคุณกิตติชน แม้นสมุทร หรือคุณจิ๊ป และคุณธนาทิพย์ แม้นสมุทร หรือคุณติ๋ว สามารถพาลูกสาวทั้งสองคนสอบเข้าสาธิตเกษตรได้สำเร็จ คนโต ด.ญ.ณิชาภัทร แม้นสมุทร (ของขวัญ) สอบปี 2551 คนเล็ก ด.ญ.กัญณภัทร แม้นสมุทร (เอแคลร์) สอบปี 2560 เพิ่งจะรับใบมอบตัวป.1 ไปสดๆ ร้อนๆ นี้เอง ไปดูกันครับว่า ครอบครัวนี้มีเทคนิคการเลี้ยงลูกอย่างไรบ้าง
สวัสดีครับ คุณจิ๊ป เลี้ยงลูกเก่งมากเลยครับ สอบเข้าสาธิตเกษตรได้ทั้งคู่ คุณพ่อมีเทคนิคอะไรพิเศษบ้างครับ แนะนำหน่อยครับ
ก็เลี้ยงเขาตามปกติครับ น่าจะเหมือนกับครอบครัวทั่วไป แม้ว่าผมจะพอรู้เทคโนโลยีบ้าง แต่ผมกลับไม่เลือกใช้เทคโนโลยี ในการเลี้ยงลูกเลยครับ พอภรรยาตั้งครรภ์ ก็เริ่มหาหนังสือดีๆ อ่าน และอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ในท้อง ผมได้อ่านหนังสือ “รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” เลยวางแผนการเลี้ยงในแบบที่เข้ากับครอบครัวเราครับ
คุณพ่อกับคุณแม่ ทำอาชีพอะไรอยู่ครับตอนนี้
ครอบครัว เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจครับ พ่อเป็น Programmer ส่วนแม่เป็นนักวิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ แต่ที่บ้านยังไม่ติดอินเทอร์เน็ตเลยครับ 5555 อยากให้ลูกอยู่ห่างเทคโนโลยีบ้างครับ เดี๋ยวโตไป ค่อยสอนตอนนั้นยังทันครับ
ครอบครัวนี้ มีลูกกี่คน อยู่ชั้นอะไรกันบ้างครับ
มีลูก 2 คนครับ อยู่โรงเรียนสาธิตเกษตรทั้งคู่ คนโตกำลังจะขึ้นชั้น ป.4 ส่วนคนเล็กเพิ่งสอบเข้า ป.1 ได้ครับ
เก่งจังเลยครับ อยู่สาธิตเกษตรทั้งสองคนเลย ก่อนหน้านี้เรียนอนุบาลที่ไหนครับ
เรื่องโรงเรียน คุณแม่เป็นคนวางแผน ว่าจะเรียนแบบไหน เริ่มดูตั้งแต่ลูกเกิด อายุยังไม่ครบ 1 ขวบ โรงเรียนอะไรก็ได้ใกล้บ้าน อินเตอร์ วอลดอร์ฟ (WalDorf) ไปดูมาทุกแบบ ดูค่าใช้จ่ายด้วย แล้วมาคุยกันว่าแนวไหนเหมาะกับเรา จนได้ข้อสรุปว่าต้องแนวสาธิต ก็เริ่มหาข้อมูลเลย ว่าแนวนี้ ต้องเตรียมตัวอย่างไร เปิด Internet หาเลย โรงเรียนอนุบาลไหนสถิติสอบเข้าดีที่สุด เราไปดูกัน ไปดูว่าเข้ากับครอบครัวเราไหม ใช่ไหม ตอบโจทย์ของเราไหม….
ตอนที่จะให้ลูกคนโตสอบเข้าสาธิตเกษตร ตอนนั้นได้แรงบันดาลมาจากไหนครับ
ได้จากตัวโรงเรียนเอง และหาข้อมูลว่าทำไมทุกๆ คน จึงอยากให้ลูกเข้า จึงทำให้ได้รู้ว่า โรงเรียนนี้ใครได้เรียนแล้วมีความสุข ได้แสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เรียนตามตำราอย่างเดียว มีเวที ให้เด็กเสมอ มีเกียรติ และศักดิ์ศรี เนื่องจากทุกคนให้การยอมรับ (ยิ่งตอนเข้ามาได้ ใช่เลย สิ่งที่เหมาะกับครอบครัวเรา)
คิดไหมครับว่า ลูกจะสอบได้ มั่นใจกี่เปอร์เซ็นต์
ไม่คาดหวังเลยครับ เนื่องจากคนโตเป็นเด็กกลางๆ ไม่ได้โดดเด่น คะแนนเวลาไปเรียนติว ก็ไม่เคยเต็ม ไม่ได้เป็นลำดับต้นๆ ที่ครูชม แต่ตอนอยู่อนุบาลก็ไม่ได้ค่อยได้สนใจเรื่องเรียนคนโตเท่าไหร่ เพราะตอนนั้น น้องยังเล็ก แต่มีวันหนึ่งคุยกับผู้ปกครองเพื่อนในห้องอนุบาลเดียวกัน พูดถึงเด็กที่แต่ละห้องส่งไปแข่งขันกันเอง ดันมีชื่อลูกเราด้วย ก็เริ่มเอะใจ พอมาดูคะแนนการเรียน ก็ถือว่าทำได้ดี
มีจุดเปลี่ยนของลูกคนโตนะ คือพาเขาไปสอบที่ราชวินิต เพื่อลองสนาม ปรากฏว่าไม่ติดครับ คะแนนขาดไป 3 คะแนน ภาษาอังกฤษล้วนๆ ที่หายไป เพราะพ่อแม่ ไม่ได้เตรียมให้เขาเลย แต่ในห้องอนุบาล คุณครูถามว่าใครสอบติดบ้าง มีเพื่อนสนิทสอบได้ ทุกคนในห้องปรบมือให้ หลังจากกลับมาบ้านลูกคนโต เขาคงเริ่มคิดได้ และตั้งใจมากขึ้นและหลังจากนั้น ไม่ว่าจะไปติวที่ไหน คะแนนก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเขาเริ่มมุ่งมั่นมากขึ้น
พาเขาไปติวที่ไหนด้วยไหมครับ หรือว่าคุณแม่ติวเอง
เรื่องการติว ช่วงแรกไม่มีข้อมูลเลย คุณแม่จะหาข้อมูลว่า เขาติวกันที่ไหน เขาเตรียมตัวกันอย่างไร เราก็เอามาประยุกต์กับบ้านเรา เขาซื้อหนังสือเล่มไหมมาฝึก เวลานานไหม เราก็ฝึกบ้าง ทำตามเลย ผมซื้อหนังสือเกือบทุกเล่ม มาฝึก พ่อเป็นคนติวเอง คุณแม่ดูน้องเล็ก ตอนแรกคาดหวังว่า ว่าแบบฝึกนี้ ลูกทำได้ แต่พอทำไม่ได้ ผมก็หงุดหงิด มีตีลูกเหมือนกัน ทุบโต๊ะ ผมทำมาหมด จนลูกคนโตเครียด เครียดมาก
จนมีคนมาบอกว่าลูกคุณเริ่มเครียดแล้ว ผมจึงกลับเริ่มมาคิดว่า มันไม่ใช่แล้ว ผมทำผิด ผมไม่สอนลูก และไปคาดหวังให้ลูกทำได้ มันเป็นไปไม่ได้ ผมรีบปรับตัว เอาใหม่ คราวนี้ผมสอนก่อน ให้ลูกคิดเป็นก่อน แล้วค่อยให้ทำ การดุนั้น จะดุตอนที่รู้วิธีทำ แล้วไม่ตั้งใจมากกว่า
การติวโดยครู เราก็พาไปติวเหมือนคนอื่น ครูไหนดีเราก็ไปทดลอง ไปดูวิธีการสอนเขา ค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผลไหม การเรียนกับครูมีข้อดีคือ เด็กๆ ได้เห็นว่าไม่ใช่แค่บ้านเรานะที่ทำ เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันก็ทำแบบนี้ ครูบางคนชัดเจนในบทเรียน ว่าเรียนกี่เรื่อง แต่ละเรื่องสอนอะไรอย่างไร ลูกคุณได้อะไร คุณครูบางคนเชิญผู้ปกครองไปฟัง เพื่อนำมาสอนที่บ้าน และเราก็มาฝึกกันต่อ
เด็กทั้งสองคนมีลักษณะเด่นอย่างไรบ้างครับ พี่และน้องต่างกันอย่างไร
ต่างกันพอควร คนโตมีข้อดีคือ จำแม่น ป้อนอะไรไปจำได้หมด ชอบอ่านหนังสือ แต่ไหวพริบกลางๆ ไม่ได้โดดเด่น ผิดกับคนน้อง จำไม่แม่นเท่าพี่ แต่ไหวพริบ เอาตัวรอดค่อนข้างดีกว่า แต่ภาพรวมทั้ง 2 คน ก็ไม่ได้โดดเด่น อยู่ในเกณฑ์ปกติ
เวลาติว ทั้งสองคนต้องติวแตกต่างกันไหม ใครติวหนักกว่าใคร
ต่างกันครับ คนโต ใช้เวลาเพียง 1 ปี ในการเตรียมตัว แต่คนเล็ก เริ่มทันทีวันที่พี่ไปสอบเข้า เย็นวันนั้นน้องเริ่ม นั่งซ้อมแบบฝึกก่อนเลย พ่อสอนได้หมดทุกเรื่องของพี่เรียน เรื่อง ครูติว น้องก็เรียนมากกว่าพี่ 1 ปี และครูไหนที่พี่เรียน น้องก็จะได้เรียนหมด และอาจมีครูอื่นเพิ่มขึ้นมาอีก
เมื่อคุณพ่อกับคุณแม่เป็นนักไอทีอย่างนี้ แล้วอยากให้ลูกเป็นนักไอทีด้วยไหมครับ
แล้วแต่เด็กๆ เลยครับ ไม่ได้บังคับ ชอบอะไร อยากเป็นอะไร ผมจะบอกให้คิดว่าชอบอะไร และจะเล่าว่าแต่ละอาชีพเป็นอย่างไร ทำอะไรบ้าง อาชีพนี้ชีวิตตั้งแต่เริ่มงาน จนถึงวันเกษียณ จะพบอะไร เป็นอย่างไร เพื่อให้คิดเอาเองว่าเขาจะไปทางไหน ซึ่งเด็ก ๆ ยังไม่ค่อยรู้ครับ แต่เชื่อว่า หากเราป้อนข้อมูลตั้งแต่ยังเล็ก เขาจะมีเวลาคิด และหาตัวเองได้เร็วกว่ามาคิดตอนโต
เมื่อลูกเข้ามาเรียนที่สาธิตเกษตรได้แล้ว การเรียนราบรื่นดีไหม เขาปรับตัวยากไหมครับ มีอะไรที่ต้องปรับเป็นพิเศษไหม
คนโต ปรับตัวเหมือนกันนะ เนื่องจากสาธิต ให้เด็กๆ ช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น แตกต่างจากอนุบาลซึ่งมีครูคอยดูแล พอระดับ ป.1 แล้วต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น เกรด ไม่คาดหวังเลยครับ ขอให้ไม่ตกก็พอ แต่คนโต ก็ทำได้ดี และปรับตัวเข้ากับระบบการเรียนการสอนได้ดี สุดท้ายก็ได้เกียรติบัตรเรียนดี มาให้พ่อแม่ชื่นใจ
ปีที่แล้วพี่เรียนสาธิตเกษตร แล้วน้องยังอยู่ที่โรงเรียนอนุบาล คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีรับส่งอย่างไร
นี้แหละ คือปัญหาครับ การรับส่ง 2 ที่ จากคุณแม่ที่ไม่เคยขับรถออกถนนใหญ่ จนตอนนี้ขับเก่งแล้ว ก็เพื่อลูก มนุษย์แม่ทำได้ทุกอย่าง
ในสายตาของคุณพ่อคุณแม่ มองว่าโรงเรียนสาธิตเป็นอย่างไร และสำหรับโรงเรียนสาธิตเกษตรเอง คุณพ่อคุณแม่ชื่นชมอะไรเป็นพิเศษไหมครับ
ในสายตาผม โรงเรียนสาธิต เป็นโรงเรียนที่มีระบบการเรียนการสอนที่ให้เด็กแสดงความคิด กล้าแสดงออก เช่น คนโต เข้าไปได้ไม่กี่วัน ก็ต้องไปพูดแนะนำตัวเองหน้าห้องเสียแล้ว เห็นกลับมาซ้อมพูดหลายวันเหมือนกันนะ อีกทั้งโรงเรียนสาธิต ผมเห็นความพร้อม ความตั้งใจของอาจารย์ และนิสิตฝึกสอน เนื้อหาวิชาที่ทดลองวิจัยขึ้นมาใหม่ เช่น วิชาทักษะการคิด ไม่ใช่ให้เรียนตามหลักสูตรเท่านั้น เขามีเนื้อหาที่ช่วยกระตุ้นเด็ก ๆ คิด และแสดงมันออกมา
วางอนาคตไว้อย่างไรบ้างครับ ให้เขาเรียนจนจบ ม.6 เลยไหม
พอน้องเข้าได้ ก็สบายใจไปได้ 12 ปี ซึ่งอยากให้เรียนจบ ม.6 ไหม พ่อ แม่ ไม่ซีเรียสนะครับ แล้วแต่ลูก พอโตขึ้น เขาจะเป็นคนบอกพ่อแม่เองครับ ว่าอนาคตเขาจะเป็นอย่างไร เราแค่แนะนำแนวทางให้เขา และให้ตัดสินใจกันเอาเอง
ถ้าคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นๆ ต้องการให้ลูกสอบเข้าสาธิตเกษตรได้ทั้งสองคนแบบนี้บ้าง แนะนำอย่างไรครับ
ถ้าให้ผมแนะนำพ่อแม่ที่มีลูก ถึงจะสอบสาธิตหรือไม่ นั้น สิ่งแรกคือ เอา TV ออกจากชีวิตประจำวันครับ ยกเข้าไปไว้ในห้องอื่น ทำให้ห้องนั่งเล่น หรือห้องที่ทำกิจกรรมร่วมกันไม่มี TV หลังจากนั้น หาของเล่นตามวัยเข้ามา หาหนังสือเหมาะสมกับวัยเข้ามาวางไว้ใกล้ๆ แล้วเราก็นั่งคลุกอยู่กับเขา พ่อแม่ หยิบหนังสือ มาอ่าน เขาก็จะมาอ่านด้วย เวลาเขาจะเล่น เราก็ไปหาเกมส์ พวกเกมส์กระดาษ เกมส์เศรษฐี LEGO หรือ โดมิโน มาเล่นกับลูก ลูกก็จะอยู่กับเรา
เทคโนโลยีต่างๆ มือถือ IPAD Internet นั้น ผมไม่แนะนำให้เด็กเล่นเลย บ้านผมเด็กๆ ยังเล่น Internet ไม่เป็น มือถือก็ไม่ให้เล่น พยายามเลี่ยง เทคโนโลยีที่กระตุ้นสมองเด็กๆ เทคโนโลยีพวกนี้ทำงานตอบสนองไว กดปุ๊บ ได้ปั๊บ ขยับปุ๊บ ได้ปั๊บ ตามใจสั่ง พอถึงเวลาจะคุยกับพ่อแม่ หรืออยู่ในโลกความเป็นจริง เด็กพูดปุ๊บ ก็หวังว่าจะได้รับคำตอบปั๊บ ทำอย่างนี้ หวังจะได้อย่างนี้ทันที ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ สุดท้ายเด็กก็จะไม่คุย ไม่พูด พูดกับตัวเองดีกว่า เหมือนที่เราเห็นเด็กเล่นเกมส์จินตนาการพูดคนเดียว เหมือนอยู่ในโลกของเขา ซึ่งผมจะพยายามเลี่ยงเหตุการณ์แบบนี้
แต่พอโตมากขึ้น ผมค่อยเริ่มสอน ว่ามันทำงานอย่างไร ทำไมมันถึงทำงานได้ไว คอมพิวเตอร์คิดอย่างไร และให้เขารู้จักมากขึ้น จนเขาโตในระดับรับผิดชอบได้มากขึ้น ก็ค่อยให้เขาใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น
ขอบคุณคุณพ่อคุณแม่คนเก่งทั้งสองท่านด้วยนะครับ ให้แนวทางการเลี้ยงลูกที่ดีมากๆ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคุณพ่อคุณแม่ที่มีโอกาสได้อ่านบทสัมภาษณ์ สุดท้ายนี้ คุณจิ๊ปมีความเห็นหรืออยากจะแนะนำอะไรเกี่ยวกับเว็บ www.raksatit.com บ้างครับ
ผมคิดว่า raksatit.com น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่ความรู้ แนวทางการเลี้ยงดูลูก การเตรียมตัวเพื่อสอบเข้า น่าจะมีประโยชน์กับหลายๆ ครอบครัวที่กำลังหาข้อมูลอยู่ เหมือนครอบครัวผมสมัยเริ่มต้นครับ ♠
«เรื่องที่เกี่ยวข้อง»
〉พ่อแม่เด็กสาธิต ต้องอย่างนี้
〉คุณแม่ใจสู้พาลูกสอบเข้าสาธิตประสานมิตร
〉ปรับตัวเตรียมใจก่อนพาเด็กไทยลุย “กัวลาลัมเปอร์”
〉ลุ้นผลลูกคนแรกสอบเข้าสาธิตเกษตร
〉ลุ้นผลลูกคนที่สองให้เรียนที่เดียวกับพี่
〉สัมภาษณ์ครอบครัวน้องทอฝันและทอฟ้า (พี่แก้มป่องกะน้องน้ำปั่น)
〉เปิดใจคุณแม่เด็กโครงการพิเศษ ขอบคุณที่ให้โอกาส แนะเลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด
〉แนะนำแบบฝึกหัดสอบเข้าสาธิต