3 Idiots

เราเรียนหนังสือไปเพื่ออะไร

เคยตั้งคำถามกับตัวเองแบบนี้บ้างสักครั้งในชีวิตบ้างไหมครับ

ไม่ว่าจะถามตอนเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือวัยทำงาน และต่อให้เป็นพ่อแม่คนแล้ว คำถามนี้ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน

วันนี้ผมจะมาชวนดูหนังเรื่องหนึ่งครับ เป็นหนังอินเดีย หนังมีครบทุกรส ทั้งสุข เศร้า เคล้าน้ำตา หัวเราะ ร้องไห้ ดีใจ เสียใจ สมหวัง ผิดหวัง ตลกสนุกสนาน มีมันทุกอย่าง 

สรุปคือ สนุก และประทับใจที่สุด จนอดไม่ไหว ต้องมาเขียนเล่าให้ฟังนี่แหละครับ อะแฮ่ม

หนังเรื่องนี้ ชื่อว่า “3 Idiots” หรือชื่อไทยคือ “3 อัจฉริยะปัญญานิ่ม”

หนังว่าด้วยเรื่องมิตรภาพของหนุ่มนักศึกษา 3 คนที่ครูอาจารย์ในวิทยาลัยแห่งนี้เรียกว่า พวกบ้าบอ เพราะทำอะไรไม่ค่อยตรงตามที่ครูสอนสักเท่าไหร่

เรียกว่า พวกแตกแถว หรือนอกคอก ก็ว่าได้

หนังเปิดฉากสุดระทึกที่สนามบิน “ฟาห์รัน” กำลังจะเดินทางไปธุระ แต่ระหว่างที่เครื่องบินกำลังทะยานขึ้นนั้น เขาก็ได้รับโทรศัพท์ปลายสายแจ้งมาว่า สามารถติดต่อกับเพื่อนที่ห่างหายกันไปเป็น 10 ปีได้แล้ว

ฟาห์รันออกอาการแกล้งป่วยเพื่อให้เครื่องบินลงจอดฉุกเฉิน จากนั้นเขาก็รีบไปรับเพื่อนอีกคนคือ “ราจู” เพื่อไปตามหาเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันมานานคนนั้น

หลังจากราจูทราบข่าวจากฟาห์รัน เขาก็รีบร้อนออกมาพบกับฟาห์รันทันที รีบร้อนขนาดไหน ดูได้จาก ราจูถึงขนาดลืมใส่กางเกงกันเลยทีเดียว

เพื่อนที่พวกเขารีบร้อนที่จะไปหาก็คือ “แรนโช” พระเอกของเรื่องนั่นเอง

หนังใช้วิธีเล่าเรื่องสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์ปัจจุบัน กับการย้อนกลับไปเล่าเรื่องสมัยที่พวกเขาทั้งสามเป็นนักศึกษา เริ่มเข้ามาเรียนในวิทยาลัยวิศวกรรม ชื่อดังอันดับหนึ่งของอินเดีย

แค่วันแรก แรนโชก็โต้ตอบการรับน้องของรุ่นพี่ได้อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ด้วยการนำความรู้เรื่องวิศวไฟฟ้ามาปรับใช้ ทำเอารุ่นพี่ถึงกับเข็ดไปอีกนาน

วันรุ่งขึ้นอีกวัน เขาก็ทำให้ผู้อำนวยการ หรือที่นักศึกษาเรียกกันสั้นๆว่า “ไวรัส” ต้องเสียหน้า เพราะไปถามคำถามแย้งกับที่ผอ.ท่านนี้ สั่งสอนต่อๆ กันมาเรื่อยๆ

ขอสปอยล์แค่นี้ พอหอมปากหอมคอ หนังมีความสนุกๆ ให้ติดตามอีกเยอะแยะมากมาย แม้ว่าตัวหนังจะยาวเกือบ 3 ชั่วโมง แต่เชื่อผมเถอะ ว่าไม่มีตอนไหนน่าเบื่อเลยสักนิดเดียว ทุกเรื่องราวเรียงร้อยเข้าด้วยกัน เป็นเหตุเป็นผล จนต้องยกนิ้วให้คนเขียนบท ว่าเจ๋งมาก

เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พวกเขาจะตามหาเพื่อนที่หายไปเจอหรือไม่ สาเหตุอะไรทำไมเพื่อนคนนั้นถึงต้องหายไป พวกเขาจะเรียนจบได้อย่างที่หวังหรือเปล่า พระเอกจะได้สมหวังกับนางเอกไหม หนังมีเรื่องราวให้รอลุ้นหาคำตอบตลอดทั้งเรื่อง

สิ่งที่หนังเรื่องนี้ ตั้งประเด็นไว้อย่างโดดเด่นและแยบคายก็คือเรื่องการศึกษา ขอยกประเด็นเด่นๆ  มาเล่าให้ฟังดังนี้

1. การประกาศผลสอบเป็นอันดับ 1, 2, 3 ดีจริงหรือ ให้นักศึกษาแข่งขันกันเป็นที่ 1 นั้นเป็นเรื่องดีใช่ไหม คำถามนี้ไปไกลถึงขั้นที่ว่า เวลาจะถ่ายรูปประจำปีการศึกษา ท่านผอ.ถึงขั้นให้นักศึกษานั่งเรียงลำดับหน้าหลังตามลำดับที่สอบได้ แทบจะเป็นการแบ่งชั้นวรรณะกันเลยทีเดียว

หนังชี้ให้เห็นว่า คนที่ผลสอบออกมาเป็นลำดับท้ายๆ นั้นรู้สึกแย่เพียงใด แทบไม่มีกำลังใจเรียนต่อ และนักศึกษาบางคนที่ยึดติดอยู่กับเรื่องลำดับที่ ตนเคยได้ที่หนึ่ง มาก่อน พอตกมาเป็นที่สอง ก็ทุกข์ร้อนไม่สบายใจ จนเมื่อมีการสอบครั้งใหม่ ก็ยอมทำทุกอย่างแม้จะเป็นเรื่องที่ผิด เพราะต้องการให้คนอื่นไม่มีสมาธิเพื่อตนจะได้สอบได้ที่หนึ่ง

ประเด็นนี้น่าคิดว่า เพราะการเน้นเชิดชูความเป็นที่หนึ่ง ทำให้บางทีเราหลงลืมว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของการศึกษาเล่าเรียน คือความรู้ที่นักเรียนนักศึกษาควรจะได้ใช่หรือไม่

2. เราจำเป็นต้องแข่งขันกันเรียนหรือไม่ การที่อาจารย์พยายามกระตุ้นนักเรียนนักศึกษาอยู่ตลอดเวลาว่า เธอต้องเป็นที่ 1 เท่านั้น การเป็นที่สองไม่มีใครจำได้ เรื่องนี้ทำให้มีความกดดันกับนักศึกษาอย่างมาก บางคนก็อดทนไหว รับได้ แต่บางคนก็ไม่สามารถทนรับแรงกดดันนี้ได้

ตัวอย่างในเรื่อง “จอย โลโบ” กำลังคิดค้นเรื่องโดรน แต่ยังทำงานไม่สำเร็จเพราะพ่อป่วยต้องกลับบ้านไปดูแล แต่กลับกลายเป็นว่า ท่านผอ.ไวรัส ไม่ยอมให้เขาเรียนจบในปีนั้น เพราะเห็นว่า เขาทำงานไม่เสร็จตามกำหนดโดยไม่สนใจฟังเหตุผลใดๆ ของลูกศิษย์เลย

3. วิชาหรือคณะที่นักศึกษาเรียนกันอยู่นั้น เป็นสิ่งที่นักศึกษาสนใจอยากเรียนเอง หรือว่า เป็นแค่ความฝันตกค้างของพ่อแม่ที่เคยอยากเรียนอยากสอบได้

บางครั้งพ่อแม่ก็กังวลมากจนเกินไป กลัวว่า ลูกจะไม่เด่นไม่ดัง ไม่ร่ำรวย กลัวจะเสียหน้าที่เห็นเพื่อนมีบ้าน มีรถ มีหน้าที่การงานที่ดีกว่า มั่นคงกว่า หรือทำเงินได้มากกว่า จนลืมว่า ลูกจะมี “ความสุข” หรือไม่

หนังได้ชี้ให้เห็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูก เรื่องที่ลูกอยากเรียนอยากรู้ บางเรื่อง แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะพ่อแม่อยากให้ลูกได้เรียนสิ่งที่พ่อแม่เห็นว่าดีเท่านั้น

การได้เรียนในสิ่งที่รักนั้น ส่งเสริมให้คนเราประสบความสำเร็จและมีความสุขมากกว่าการเรียนตามความฝันของพ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่บางคนนั้น พอตนเองไม่สามารถทำอย่างที่ฝันไว้ได้ ยกความฝันของตนเองนี้มาให้ลูก โดยหารู้ไม่ว่า ลูกต้องลำบากและเหนื่อยกับภาระนี้มากสักเพียงใด

ในหนังเรื่องนี้ การบังคับให้ลูกเรียนอย่างที่พ่อแม่ต้องการนั้นมีแทรกอยู่ตลอด และหนังก็ทำให้เห็นผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่พ่อแม่บังคับให้ลูกเรียน รวมไปถึงผลลัพธ์ที่ดีเมื่อพ่อแม่ยอมที่จะปล่อยให้ลูกได้เดินทางของตัวเอง เรื่องความสุขความทุกข์ยิ่งชัดว่าแบบไหนดีที่สุด

ตัวอย่างในหนังที่เด่นชัด ก็คือ ตัวของฟาห์รันเอง มีความชอบและใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักถ่ายภาพสัตว์ อยากเป็นช่างกล้องมืออาชีพ แต่เพราะความฝันของพ่อที่ขัดไม่ได้ทำให้เขาจำเป็นต้องมาเรียนวิศวกรรม

4. การศึกษาแบบท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทองนั้น ใช้ได้จริงหรือ เรื่องนี้มีนักศึกษาคนหนึ่งที่เน้นท่องจำเพียงอย่างเดียว เมื่อมีเพื่อนทักว่า ควรจะเข้าใจ อธิบายได้ และนำไปประยุกต์ได้ด้วย เขาก็ไม่สนใจ จนวันหนึ่ง เขาต้องกล่าวสุนทรพจน์ จำข้อความที่ผู้อื่นร่างให้เอาไปพูดโดยไม่รู้ว่าเนื้อหาในสุนทรพจน์จริงๆ นั้นเป็นอย่างไร โดนเพื่อนแกล้งเปลี่ยนคำบางคำในสุนทรพจน์เป็นคำไม่ดี แต่เขาก็นำไปกล่าวทั้งอย่างนั้น เพราะไม่เข้าใจความหมาย คิดว่าถูกต้องแล้ว เล่นเอาผู้อำนวยการโกรธมาก

5. อยากเรียน จำเป็นไหมว่า ต้องรวยก่อนแล้วถึงจะเรียนได้ พระเอกในเรื่องนี้มีความคิดที่ว่า เมื่ออยากเรียน ก็สามารถเรียนได้ ถ้าอยากจะเรียนจริงๆ ก็แต่งชุดนักศึกษาเข้าไปเรียนได้เลย อาจารย์จำไม่ได้หรอกว่าใครบ้าง แล้วเขาก็แสดงให้เห็นว่า เขามีความใฝ่รู้มากมายแค่ไหน จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาสามารถประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ได้สำเร็จมากมาย

ฉะนั้น การเรียน ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า มีเงินจะจ่ายเพื่อเรียนหรือเปล่า แต่อยู่ที่ว่า เรามีความใฝ่เรียนใฝ่รู้มากแค่ไหน ถ้ามีมากพอ เดี๋ยวโอกาสที่ทำให้ได้เรียนนั้นจะลอยเข้ามาหาเราอย่างแน่นอน

ในหนัง มีอยู่ตอนหนึ่งที่ แรนโชพูดกับหนุ่มน้อยคนหนึ่งที่คอยช่วยเหลือนักศึกษาทั้งเรื่องยกกระเป๋า รีดผ้า ซึ่งใครๆ ก็ตั้งฉายาให้เขาว่า “มิลลิเมตร” เพราะตัวเล็ก ว่า ถ้าเขาอยากเรียนหนังสือ ก็ไม่ยาก แค่ใส่ชุดนักศึกษาเข้าไปเรียน อาจารย์ก็ไม่รู้จักหรอก เรียนได้แล้ว

เพื่อนๆ ที่ได้ยินคำแนะนำของแรนโชนี้ ต่างก็คิดว่า เป็นแค่คำพูดแนะนำสนุกๆ เท่านั้น แต่หารู้ไม่ว่า สิ่งนี้แหละที่ทำให้แรนโชได้เรียนในสิ่งที่เขาอยากจะเรียน

6. การเรียนการสอนนั้น ก็คือ การทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เพื่อจะได้ถ่ายทอดให้กับนักเรียนนักศึกษาได้เข้าใจง่ายๆ แต่ครูอาจารย์บางท่านก็ยึดติดอยู่กับตำราเก่าๆ แม้แต่คำนิยามก็ยังต้องตรงตามหนังสือเป๊ะๆ กลายเป็นทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากซะงั้น

คุณสมบัติของครูที่หนังต้องการจะบอกก็คือ การถ่ายทอดที่ดี และสอนให้นักเรียนได้รู้จักคิด ไม่ใช่ยึดติดอยู่กับคำนิยามที่ท่องจำต่อๆ กันมาเท่านั้น

นอกจากประเด็นทางด้านการศึกษาแล้ว หนังเรื่องนี้ยังแทรกข้อคิด ความหวัง กำลังใจให้ผู้ชมได้นำมาขบคิดอีกหลากหลาย เท่าที่ผู้เขียนสังเกตเห็นมีดังนี้

7. คนเราเมื่อได้พบเจอกับอุปสรรคที่ยากลำบาก หนักหนาสาหัสสักเพียงใด ก็ต้องอดทน ชีวิตต้องมีความหวัง และฝ่าฟันเอาชนะอุปสรรคนั้นไปให้ได้

มีเหตุการณ์ตอนหนึ่ง ลูกสาวคนเล็กของผู้อำนวยการ เกิดเจ็บครรภ์จะคลอดลูก แล้วบังเอิญว่าช่วงเวลานั้นฝนตกน้ำท่วมหนัก ไม่สามารถเรียกรถพยาบาลให้มารับได้ แถมไฟฟ้าก็มาดับพอดี 

งานนี้ทำให้ได้เห็นความรู้ความสามารถของคนที่ใฝ่เรียน ใฝ่รู้อย่าง “แรนโช” ที่สามารถแก้ปัญหานี้อย่างทันท่วงที โดยใช้ความรู้จากสิ่งที่เขาเรียนมานั่นแหละมาประยุกต์ใช้ เหตุการณ์นี้ทำให้เราลุ้นสุดๆ ใจหายใจคว่ำไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น 

เป็นการช่วยย้ำว่า ถ้ารู้จริงซะอย่าง มีเหตุการณ์ที่ยุ่งยากเร่งด่วนสักเพียงใด ก็จะแก้ปัญหาและผ่านมันไปได้

คำพูดที่เป็นเสมือนคำขวัญที่ “แรนโช” สอนเพื่อนๆ และคนรอบข้างให้พูดอยู่เรื่อยๆ ก็คือ “All is Well” แปลเป็นไทยก็คือ สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอนั่นแหละ

8. ความกลัว ความกังวล ทำให้คนเราหันหน้าไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์สารพัด เพื่อหวังให้ช่วยให้ได้อย่างที่ต้องการ ทั้งที่ความกลัวเหล่านี้แหละที่ทำให้เราไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ ในเรื่องนี้ ตัวละคร “ราจู” ต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์สารพัด เพราะมีภาระต้องรีบเรียนให้จบ หางานให้ได้เพื่อหาเงินไปรักษาพ่อที่ป่วยอัมพาต แม่ที่อยู่ในวัยเกษียณ และให้พี่สาวได้แต่งงาน

ในตอนท้ายของเรื่อง เมื่อ “ราจู” สามารถหลุดพ้นจากความกลัวความกังวลต่างๆ เหล่านี้ได้ และมองเห็นค่าความสำคัญของชีวิต ก็ทำให้เขาเลือกชีวิตแบบที่เป็นตัวเราที่สุด โดยไม่ต้องแคร์กับความคาดหวังของคนอื่น ถ้าที่นั่นมันไม่ใช่ที่ของเราก็แค่ก้าวออกมา เป็นคำพูดที่เท่มาก ต้องยกนิ้วให้เลย

9. การเรียนรู้คนก็สำคัญ เพราะบางคนภายนอกเขาอาจดูเป็นคนที่ไร้ค่า แต่อาจมีความดีงามที่ซ่อนอยู่ในตัวมากมาย ในทางตรงกันข้าม บางคนดูร่ำรวยมีหน้ามีตา แต่อาจซ่อนไว้ด้วยจิตใจที่ดูถูกคนและมองทุกอย่างด้วยราคาที่ซื้อหามาเท่านั้นก็ได้

ตัวอย่างในเรื่องนี้ ก็คือ คู่หมั้นของนางเอกในเรื่องที่มองทุกอย่างตามราคาสินค้าเท่านั้น การเลือกที่จะแต่งงานกับนางเอกก็เพราะต้องการให้นางเอกช่วยเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาให้ตนอีกทางหนึ่งเท่านั้นเอง

หนังเรื่องนี้สอดแทรกข้อคิด มิตรภาพ ความหวัง กำลังใจ และแอบเสียดสีระบบการศึกษาของอินเดียไว้อย่างแยบคาย แต่บางทีดูไปดูมา ก็แทบไม่ต่างจากระบบการศึกษาของประเทศเราสักเท่าไหร่เลย

ฉากที่ปรากฏแต่ละฉากก็สวยงาม เป็นหนังที่ชวนให้เราใฝ่ฝันที่จะได้ไปเที่ยวอินเดียตอนเหนือ เพลงที่สอดแทรกเข้ามาก็ไพเราะทุกเพลง เป็นหนังที่ดูได้ทุกเพศ ทุกวัย วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ ดูได้หมด

ถ้าให้คะแนนผมให้ 10/10 เลยเอ้าเรื่องนี้

ใครยังไม่ได้ดู รีบไปดูด่วนเลยครับ

ดูเรื่องนี้จบแล้ว หากสนใจหนังที่เกี่ยวกับการศึกษา ผมได้ลองสอบถามเพื่อนๆ ไป ได้คำตอบมาหลากหลาย ตามรายการนี้นะครับ

รวมรายชื่อภาพยนตร์ เกี่ยวกับการศึกษา

1. Dead Poet Society

2. Scent of a Woman

3. ครูบ้านนอก

4. Not one less

5. Final score 

6. ฉลาดเกมส์โกง 

7. ซี่รีย์ sky castle

8. Freedom Writers

9. Dangerous Minds, 

10. Good Will Hunting

11. คิดถึงวิทยา

12. เพราะอากาศ เปลี่ยนแปลงบ่อย seasons change

13. I not stupid หนังสิงคโปร์ 

14. Mona Lisa Smile

15. Accepted

16. With Honors

17. Childhood โรงเรียนริมป่า

18. The boy who harnessed the wind ชัยชนะของไอ้หนู

19. ครูไหวใจร้าย

20. “The Chorus ” หรือ “Les Choristes” หนังฝรั่งเศส “ดนตรีบรรเลง บทเพลงชีวิต”

21. ฟ.ฮีแลร์

22. School of Rock

23. Mr Holland’s Opus

24. The History Boys

25. Juno

26. 3 idiots

27. PK

28. มาทิลด้า

29. The First Grader

30. To Sir With Love

31. Life is beautiful

32. Shawshank redemption

33. Forrest Gump

«เรื่องที่เกี่ยวข้อง»

〉แนะนำแบบฝึกหัดสอบเข้าสาธิต
〉9 เคล็ดลับ ชวนลูก ทำแบบฝึกหัด ให้สนุก และได้ผล
〉ติวกับครู หรือ ติวเองดี
〉เกณฑ์อายุสอบเข้าสาธิต
〉เราไม่ใส่ความคาดหวังลงไปในใจลูกดีกว่าไหม
〉ลุ้นผลลูกคนที่สองให้เรียนที่เดียวกับพี่
〉ความดี 7 ข้อของโรงเรียนสาธิต
〉เราได้อะไรจากการพาลูกสอบสาธิต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *