เปิดใจคุณแม่เด็กโครงการพิเศษ ขอบคุณที่ให้โอกาส แนะเลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด
เนื่องจากวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา เป็นวันออทิสติกโลก เรามาทำความรู้จักกับเรื่องราวพิเศษของเด็กพิเศษในแวดวงเด็กสาธิตกันบ้างดีกว่า
ครั้งนี้ เว็บไซต์ RakSatit ได้รับเกียรติอย่างสูง จากคุณแม่ซึ่งเป็นผู้ปกครองเด็กในโครงการเด็กพิเศษของโรงเรียนสาธิตเกษตร โครงการนี้น่าจะเป็นความตั้งใจของอาจารย์ที่อยากให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมในรูปแบบที่หลากหลาย ได้เห็นความแตกต่างของเพื่อนๆ ในขณะเดียวกัน อาจารย์ก็ได้ศึกษาเรียนรู้ลักษณะต่างๆ ของเด็ก เพื่อนำมาปรับใช้ทั้งทางการแพทย์ ทางสังคม และวงการการศึกษา
สวัสดีครับ คุณแม่ทำอาชีพอะไรครับ
นักพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ค่ะ
คุณแม่ทราบตั้งแต่เมื่อไหร่ครับว่าน้องเป็นออทิสติก
ทราบตอนน้องอายุ 3 ขวบค่ะ ตอนไปสมัครเรียนอนุบาลได้พบคุณครูที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลเด็กพิเศษ คุณครูทักว่าน้องไม่ค่อยกลัวคนแปลกหน้ากับสถานที่ใหม่ๆ ซึ่งช่วงอายุน้องตอนนั้นควรจะมีความระวังตัวมากกว่านี้ค่ะ
อะไรที่ทำให้คุณแม่มั่นใจว่าน้องมีอาการออทิสติกแน่ๆครับ
แม่ได้หาความรู้เพิ่มเติม สังเกตลูก และขอคำวินิฉัยจากจิตแพทย์เด็กจากรพ.จุฬาฯและสมิติเวชค่ะ
ก่อนหน้านี้หรือในระหว่างตั้งครรภ์มีอาการอะไรพิเศษที่ทำให้คุณแม่พอจะทราบมาก่อนไหมครับ
ไม่มีค่ะ
คุณหมอให้คำแนะนำอย่างไรบ้างครับ
คุณหมอแนะนำให้เลี้ยงดูใกล้ชิด พยายามพูดคุยกับน้องเยอะๆ ไม่ให้น้องดูทีวี และเข้ารับการฝึกกิจกรรมบำบัดอย่างต่อเนื่องค่ะ
น้องมีพี่น้องด้วยไหมครับ
น้องเป็นลูกคนเดียวค่ะ
แล้วเป็นมาอย่างไรครับถึงได้มาเรียนที่สาธิตเกษตร
คุณหมอที่ดูแลแนะนำว่าทางสาธิตเกษตรมีโครงการสำหรับเด็กพิเศษให้เรียนร่วมกับนักเรียนทั่วไปได้ค่ะ มีขั้นตอนในการทดสอบทั้งของคุณหมอและโรงเรียนว่าน้องสามารถเรียนรู้ทางวิชาการและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ค่ะ
โครงการนี้ชื่อเต็มๆ ว่าอย่างไรครับ
โครงการพิเศษ2 ค่ะ
น้องเริ่มเข้าเรียนตั้งแต่อายุกี่ขวบครับ
6 ขวบค่ะ
ขณะที่น้องเรียนอยู่กับเพื่อนๆ เข้ากับเพื่อนได้ไหมครับ มีอะไรที่ต้องระวังเป็นพิเศษไหม
น้องยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องล้อเล่นหรือตีความคำพูดของเพื่อนๆ ไม่ค่อยถูก หรือ ไม่ยืดหยุ่นกับสถานการณ์ต่างๆ บางครั้งทำให้เกิดความขัดแย้งกับเพื่อนๆ ได้ค่ะ
สิ่งที่น้องได้เรียนรู้ในห้องเรียนช่วยให้น้องสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไรบ้างครับ
น้องได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมในสังคมที่มีข้อกำหนดและต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์
ในห้องเรียนต้องมีอาจารย์มาดูแลให้เป็นพิเศษไหมครับ
มีอาจารย์ของโครงการพิเศษเข้ามาช่วยดูแลค่ะ
น้องมีเพื่อนสนิทไหมครับกี่คน เพื่อนๆ ยอมรับน้องไหม
น้องมีเพื่อนสนิทคนเดียวค่ะ เพื่อนๆในห้องส่วนใหญ่ก็น่ารักยอมรับน้องดีค่ะ
อะไรที่คุณแม่คิดว่าน้องแตกต่างจากเด็กทั่วไปบ้างครับ
น้องมีทักษะทางสังคมและภาษาช้ากว่าเด็กวัยเดียวกันค่ะ
น้องชอบดนตรีศิลปะหรือกีฬาประเภทไหนเป็นพิเศษบ้างไหมครับ
น้องชอบศิลปะค่ะ
น้องเรียนที่สาธิตเกษตรเป็นโปรแกรมแบบปกติไหมครับหรือว่าเป็นโปรแกรมพิเศษ
น้องอยู่ในโครงการพิเศษ มีอาจารย์ของโครงการช่วยดูแลน้องร่วมกับอาจารย์ประจำชั้นค่ะ
โรงเรียนมีนโยบายอย่างไรบ้างครับเกี่ยวกับเด็กพิเศษ แต่ละปีจะมีรับกี่คน รับในลักษณะแบบไหน
รับปีละประมาณ 5 คนค่ะ
คุณแม่คิดว่าน้องได้อะไรจากการเข้าเรียนในสาธิตเกษตรด้วยโครงการพิเศษนี้บ้างครับ
น้องได้รับโอกาสเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปโดยมีอาจารย์โครงการคอยดูแลบรรยากาศในห้องเรียนให้เป็นไปด้วยดีค่ะ แม่คิดว่าน้องมีความสุขที่ได้เล่น พูดคุยทำกิจกรรมกับเพื่อนๆวัยเดียวกันโดยไม่ถูกล้อเลียนค่ะ
วันหยุดคุณแม่ให้น้องทำกิจกรรมอะไรเป็นพิเศษบ้างครับ
วาดรูป และ ทำขนมค่ะ
ช่วงปิดเทอมมีเวลาหยุดยาวน้องคิดถึงเพื่อนๆที่โรงเรียนไหม
ค่ะ น้องรักเพื่อนๆ พูดถึงบ่อยๆว่าอยากเจอกันโดยเฉพาะเพื่อนสนิทค่ะ
นอกจากที่สาธิตเกษตรแล้วเท่าที่คุณแม่ทราบโรงเรียนอื่นๆ มีนโยบายรับนักเรียนพิเศษเข้าเรียนบ้างไหมครับ ถ้ามี มีที่ไหนบ้างครับ
ที่ทราบมีสาธิตรามฯ, สาธิตประสานมิตร, โรงเรียนในสังกัดกทม. ค่ะ
อยากให้คุณแม่ช่วยแนะนำว่าที่คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังวางแผนจะมีลูกในอนาคตว่าควรทำอย่างไรบ้างเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเป็นเด็กพิเศษ
ในปัจจุบันยังไม่สามารถคัดกรองเด็กพิเศษตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์นะคะ ขอแนะนำคุณพ่อคุณแม่ให้เลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด พาลูกเล่นเยอะๆ หลีกเลี่ยงการดูทีวีหรือสมาร์ทโฟน หากสังเกตเห็นความผิดปกติควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญค่ะ
สุดท้ายนี้คุณแม่อยากพูดอะไรเป็นพิเศษกับคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นๆ หรือกับครูอาจารย์บ้างครับ
อยากขอบคุณอาจารย์และเพื่อนผู้ปกครองที่ช่วยให้กำลังใจและสนับสนุนให้เด็กๆ เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันค่ะ เด็กพิเศษสามารถเรียนรู้ได้หากได้รับโอกาสและความเข้าใจค่ะ
ขอบพระคุณคุณแม่มากเลยนะครับ บทสัมภาษณ์นี้น่าจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ หรือว่าที่คุณพ่อคุณแม่อีกหลายท่านอย่างแน่นอน RakSatit ขอเป็นอีกหนึ่งเสียงเพื่อเป็นกำลังใจให้คุณแม่เลี้ยงดูลูกอย่างมีความสุขครับ ♦
‹รู้จักและเข้าใจเด็กออทิสติก›
ขอบคุณข้อมูลจาก http://volunteercenter.cmu.ac.th/รู้จักและเข้าใจ-เด็กออท/
«เรื่องที่เกี่ยวข้อง»
〉พ่อแม่เด็กสาธิต ต้องอย่างนี้
〉คุณพ่อไอที แนะปิดทีวีและมือถือ อ่านหนังสือดีกว่า
〉คุณแม่ใจสู้พาลูกสอบเข้าสาธิตประสานมิตร
〉ปรับตัวเตรียมใจก่อนพาเด็กไทยลุย “กัวลาลัมเปอร์”
〉ลุ้นผลลูกคนแรกสอบเข้าสาธิตเกษตร
〉ลุ้นผลลูกคนที่สองให้เรียนที่เดียวกับพี่
〉สัมภาษณ์ครอบครัวน้องทอฝันและทอฟ้า (พี่แก้มป่องกะน้องน้ำปั่น)
〉แนะนำแบบฝึกหัดสอบเข้าสาธิต