9 เคล็ดลับ ชวนลูก ทำแบบฝึกหัด ให้สนุก และได้ผล
การทำแบบฝึกหัดก็เหมือนกับการทำการบ้านค่ะ เป็นการฝึกวินัยและความรับผิดชอบที่ดีมากตั้งแต่เล็กๆ ลูกจะได้เริ่มเรียนรู้ว่า นี่คือหน้าที่ที่ลูกต้องทำโดยไม่มีข้ออ้าง และต้องทำให้เสร็จเรียบร้อยด้วยค่ะ ไม่ว่าลูกจะอยากทำหรือไม่ก็ตาม
พ่อแม่มีหน้าที่โดยตรงในการชวนลูกทำแบบฝึกหัดเช่นเดียวกับทำการบ้าน เด็กบางคนชวนง่าย ให้ความร่วมมือดีทุกอย่าง ก็นับเป็นความโชคดีของพ่อแม่ แต่เด็กบางคนตรงกันข้าม มีความพิเศษ เราก็ต้องใช้วิธีที่พิเศษเหนือชั้นเช่นกันค่ะ
คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจคิดว่า ทำไมเด็กตัวแค่นี้จะต้องจับมานั่งทำการบ้าน หรือทำแบบฝึกหัดด้วย ทำไมไม่ให้ไปเล่นอย่างอิสระ ทำไมไม่ปล่อยให้เด็กเป็นเด็ก ฯลฯ
ความจริงแล้ว ทุกอย่างคือการฝึกฝนและเรียนรู้ของเด็กค่ะ ขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่จะจัดสรรเวลาให้เขาได้เรียนรู้แบบไหน เด็กต้องคู่กับความสนุก ถ้าได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ไม่ว่าจะทำอะไร ลูกก็จะทำได้ดี และทุกอย่างก็จะแลดูเป็นเรื่องง่ายค่ะ
จากประสบการณ์ที่ดิฉันได้ฝึกลูกสาวทั้งสองทำแบบฝึกหัดมาก่อน และปัจจุบันก็ยังต้องทำการบ้านกับเขาอยู่ พบว่า มีเคล็ดลับบางอย่างที่ใช้ชวนลูกให้มาทำแบบฝึกหัดด้วยกันอย่างสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ มีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ
1. จัดสถานที่ให้พร้อม ควรหามุมใดมุมหนึ่งของบ้านที่สงบเงียบ ไม่มีสิ่งเร้าใดมารบกวนเวลาทำการบ้านและทำแบบฝึกหัดของลูก ควรจัดสัดส่วนให้เหมาะสมค่ะ
2. จัดเวลาทำแบบฝึกหัดให้แน่นอนตรงกันทุกวัน เลือกเวลาสะดวกและเหมาะสมของแต่ละบ้านเลยค่ะ อย่างเช่น หลังจากที่ลูกกลับจากโรงเรียน พักกินขนม ก็ให้เริ่มทำการบ้านของที่โรงเรียน อาจจะใช้เวลาส่วนนี้ไม่เกิน 10-15 นาที เผื่อเวลาระบายสีไว้ด้วยค่ะ
หลังจากนั้นก็เริ่มทำแบบฝึกหัด กำหนดเวลาแน่นอนและชัดเจนว่าต้องทำถึงแค่ไหน แล้วจากนั้นก็ให้เล่นอิสระได้เลยค่ะ สำหรับช่วงเวลาเหมาะสมที่สุด ขอแนะนำช่วงเวลาต่อจากทำการบ้านที่โรงเรียนเลยค่ะ
3. ใช้เวลาให้เหมาะสม อย่านานเกินไป สำหรับอนุบาล 2 ให้เริ่มทำแค่วันละ 5-10 นาทีก็เพียงพอค่ะ แล้วค่อยขยับเวลามากขึ้นเรื่อยๆ โดยดูตามความพร้อมของลูกเราเป็นหลัก และช่วงอ.3 ก็ให้ทำแบบฝึกหัดวันละ 1 ชั่วโมงทุกวัน เน้นที่ความต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อฝึกวินัยไปในตัว ส่วนเด็กที่โตกว่านั้น เป็นระดับประถมแล้ว ก็ให้เพิ่มเวลาตามวัยของเขาค่ะ
4. สังเกตอารมณ์ ท่าทีของลูกทุกวัน คิดหากลยุทธ์จัดการปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ทำให้ลูกพร้อมที่สุดก่อนมานั่งทำแบบฝึกหัด ถ้าลูกหิว ง่วง เหนื่อย ให้จัดการสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก่อนค่ะ
เคล็ดลับคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นที่สุด โยนอารมณ์หงุดหงิดของเราทิ้งไปก่อนเลยค่ะ แล้วใช้คาถาเมตตา คาถานี้สยบได้ทุกอย่างค่ะ รับรอง
5. เรียงลำดับจากง่ายไปยาก ก่อนจะให้ลูกทำแบบฝึกหัด คุณพ่อคุณแม่ต้องทำการบ้านของตัวเองก่อนทุกครั้งค่ะ คือ ดูว่าจะสอนเรื่องอะไร ยากง่ายแค่ไหน ดูให้เหมาะสมกับเวลาที่กำหนด แล้วสอนลูกก่อนให้ลูกทำแบบฝึกหัดค่ะ
ถ้าลูกยังทำไม่ได้ก็อธิบายซ้ำ ถ้ายังไม่ได้อีกก็เก็บไว้ก่อนเลยค่ะ ห้ามตำหนิ ห้ามต่อว่า รอเวลาให้ลูกมีความพร้อมขึ้นอีกนิดแล้วค่อยนำกลับมาให้ลูกทำใหม่ ถ้าลูกพร้อมเขาจะทำได้เองค่ะ
6. อย่าตำหนิเด็ดขาด เมื่อลูกยังทำไม่ได้ หรือยังไม่ดีในสายตาพ่อแม่ ก็ห้ามตำหนิค่ะ ใช้วิธีให้กำลังใจลูก เข้าใจความรู้สึกของลูก พยายามให้ลูกเอาชนะตัวเอง ถ้าวันนี้ลูกยังทำไม่ได้ก็ไม่ต่อว่า เพราะลูกจะเสียกำลังใจและไม่อยากทำอีก และอาจจะลุกลามไปจนถึงต่อต้านการทำแบบฝึกหัดได้ค่ะ
7. ทำให้การทำแบบฝึกหัดเป็นเรื่องสนุกและท้าทาย เริ่มจากให้ลูกได้ทำสิ่งที่ง่าย ถ้าลูกทำได้ เขาจะรู้สึกมีกำลังใจอยากทำต่อ
อย่าเพิ่งตัดกำลังโดยการนำเรื่องที่ยากมาให้ทำค่ะ และท้าทายให้ลูกได้ทำสิ่งที่ยากขึ้นด้วยการให้ลูกได้ลองคิดลองทำ ถ้ายังไม่ได้ก็คอยให้กำลังใจ แต่ถ้าลูกทำได้ก็ให้ชื่นชมค่ะ ลูกจะอยากทำสิ่งที่ท้าทายมากยิ่งขึ้นค่ะ สิ่งที่ยากก็ค่อยๆ นำมาฝึกฝนบ่อยๆ บอกลูกว่าการฝึกฝนจะช่วยให้ลูกเก่งขึ้น ฉลาดขึ้น
8. ชมทุกครั้งที่ลูกทำได้หรือทำได้ดีขึ้น แม้เพียงเล็กน้อยก็ให้ชมไว้ก่อนค่ะ ลูกจะรู้สึกหัวใจพองโตทุกครั้งที่พ่อแม่ให้ความชื่นชม ลูกจะรู้สึกสนุก มีความสุขกับการทำแบบฝึกหัด รู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ให้ความชื่นชมในตัวเขา แล้วเขาก็จะอยากทำให้ดีขึ้นในทุกๆ ครั้งด้วยค่ะ
9. ทุกอย่างยืดหยุ่นได้หมด อย่าเร่งและอย่าให้ลูกทำแบบฝึกหัดเยอะเกินไป “ความมากเกิน” ไม่ส่งผลที่ดีค่ะ เพราะจะก่อความเครียดให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามดูว่าลูกยังไม่ได้เรื่องไหน เสริมเรื่องนั้นบ่อยๆ จนลูกแม่นยำ
ส่วนเรื่องไหนที่สอนมาเท่าไหร่แต่ลูกก็ไม่เข้าใจเสียที ก็ปล่อยไปเลยค่ะ แสดงว่าลูกเรายังไม่พร้อมจริงๆ เสริมกำลังใจในสิ่งที่ลูกทำได้ดี เท่านี้ลูกก็มีกำลังใจเต็มเปี่ยม พร้อมสอบแล้วค่ะ
ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกบ้านนะคะ หากใครมีเคล็ดลับใดเพิ่มเติมอีก นำมาเล่าแบ่งปันกันได้นะคะ ♥
«เรื่องที่เกี่ยวข้อง»
〉แนะนำแบบฝึกหัดสอบเข้าสาธิต
〉พ่อแม่เด็กสาธิต ต้องอย่างนี้
〉ติวกับครู หรือ ติวเองดี
〉เกณฑ์อายุสอบเข้าสาธิต
〉เราไม่ใส่ความคาดหวังลงไปในใจลูกดีกว่าไหม
〉ลุ้นผลลูกคนที่สองให้เรียนที่เดียวกับพี่
〉สัมภาษณ์ครอบครัวน้องทอฝันและทอฟ้า (พี่แก้มป่องกะน้องน้ำปั่น)
〉ความดี 7 ข้อของโรงเรียนสาธิต
〉เราได้อะไรจากการพาลูกสอบสาธิต