พ่อแม่เด็กสาธิต ต้องอย่างนี้
ใครๆ ก็อยากเป็นพ่อแม่เด็กสาธิต แต่จะทำได้หรือไม่นั้นไม่ใช่ง่ายๆ เว้นแต่เป็นข้าราชการหรือพนักงานของมหาวิทยาลัย อันนั้นก็เป็นสิทธิ์พิเศษของเขา เพราะเขาต้องทำงานในมหาวิทยาลัยมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี
งั้นลองดูกันครับว่าพ่อแม่เด็กสาธิตต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
1. อย่างแรกเลย ต้องตั้งใจจริง ในเมื่อคิดแล้วว่าอยากให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนสาธิต ก็ต้องทำทุกอย่างให้ตรงกับเป้าหมาย วางแผนติวลูก ค่อยๆ ป้อน ตัวพ่อแม่เองก็ต้องหาความรู้ จะปล่อยไปเรื่อยๆ ให้ครูพิเศษช่วยติวให้ หรือปล่อยภาระให้เป็นหน้าที่ของครูติวเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะถ้าทำอย่างนี้มีโอกาสพลาดสูง งานนี้พ่อแม่สำคัญที่สุดจริงๆ ครับ ขอบอก
2. สม่ำเสมอ ทำแล้วก็ต้องทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จะทำๆ หยุดๆ ไม่ได้ พ่อแม่บางคนทำตามอารมณ์ วันนี้ฉันอารมณ์ดีก็ยินดีติวลูก ต่อมาอีกวันอารมณ์ไม่ดีหงุดหงิดที่ทำงาน พ่อบ้านมีพิรุธ ซื้อหวยไม่ถูกไม่ตงไม่ติวมันแล้ว แบบนี้ก็ยากที่จะเป็นพ่อแม่เด็กสาธิต
3. ไม่ลังเล เมื่อตั้งใจแล้วก็ต้องทำจริงไม่ลังเลเด็ดขาด ใครจะมาเป่าหูว่ายากอย่างโง้นอย่างงี้อย่าไปสนใจ เมื่อรักจะลุยแล้วต้องลุยให้เต็มที่
4. กล้าเสี่ยง การสอบเข้าสาธิตเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น โรงเรียนสาธิตเกษตรแต่ละปีรับเด็ก 280 คน มีโควต้าพ่อแม่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยอีกประมาณ 150 คน เหลือที่เข้ามาเพราะสอบได้จริงๆ คือ 130 คน แต่เด็กสอบจริงๆ 2,000 – 3,000 คน อัตราสอบได้ 1 ต่อ 30 กันเลยทีเดียว แบบนี้จะไม่เรียกความเสี่ยงได้อย่างไร แต่รักจะเป็นพ่อแม่เด็กสาธิตจริงๆ ต้องกล้าเสี่ยง
5. ทุ่มเท ต้องกล้าทุ่ม แต่ไม่ได้หมายถึงทุ่มเงินนะ อย่าเข้าใจผิด งานนี้บอกเลย ต้องทุ่มเททั้งเวลา ความคิด แบ่งเวลามาติวแบบฝึกหัดให้ลูก มีแบบฝึกหัดมากแค่ไหนขนมาให้หมด แล้วก็พ่อแม่นั่นแหละต้องคัดเลือกว่าอันไหนง่ายกว่า อันไหนยาก ต้องให้ลูกเริ่มจากแบบที่ง่ายก่อนเพื่อให้เขามีกำลังใจ
อาหารอะไรดีๆ ก็ต้องทุ่มเทไปจัดหามาเพื่อบำรุงให้ลูกเราเติบโตแข็งแรง ต้องคอยติดตามข่าวเรื่องการสอบสาธิต มีสนามสอบที่ไหนก็ต้องพาไปลองเพื่อดูแนวโน้มความถนัดของลูกเรา แต่ไม่ต้องเยอะถึงขนาดมีที่ไหนสอบบ้างฉันพาไปหมด อย่างนั้นมันเยอะเกิน เลือกที่โอเคสัก 1-2 แห่งก็พอแล้ว
6. อดทน เส้นทางนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ดังนั้นต้องอดทนมากๆ เด็กนั้นไม่ใช่ว่าเขาจะยอมให้เราติวได้ง่ายๆ ต้องคิดหาวิธีสารพัดรูปแบบเพื่อให้ลูกมีสมาธิกับการทำแบบฝึกหัด เขาอาจจะทำบ้างเล่นบ้างก็ต้องปล่อยเขา ที่สำคัญคือพ่อแม่ต้องหาวิธีผนวกการเล่นของเขากับการทำแบบฝึกหัดให้สนุกเหมือนกันให้ได้ และถ้ารวมให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ก็ยิ่งดี ที่สำคัญบางครั้งเด็กเขาก็อยากเล่นเพราะเขาเป็นเด็ก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องอดทนอย่าอารมณ์เสียแว้ดใส่เขาเด็ดขาด
7. พยายาม งานนี้ต้องใช้ความพยายามมหาศาล พ่อแม่บางคนคิดวางแผนให้ลูกเข้าเรียนสาธิตตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้อง แต่ครั้นจะไปสมัครทำงานเป็นลูกจ้างในมหาวิทยาลัยก็ไม่ทัน และไม่รู้ว่าเขาจะรับหรือเปล่าด้วยดังนั้นต้องหาข้อมูลให้เยอะๆ ตั้งใจทำงานนี้ให้เต็มร้อย ท่องไว้ว่าความพยายามอยู่ที่ไหนความพยายามก็อยู่ที่นั่น เอ๊ยไม่ใช่ ความสำเร็จอยู่ที่นั่น สู้ๆๆๆๆ
8. ไม่ท้อถอย บางครั้งอาจได้ยินคนไม่หวังดีปล่อยข่าวมาว่า โอ้ยอย่าพาลูกไปสอบเลย สอบสาธิตไม่ติดหรอกโรงเรียนเขารับเฉพาะคนที่จ่ายเป็นล้าน จ่ายไม่ถึงไม่มีวันสอบได้ แบบนี้อย่าไปเชื่อไม่จริงเลย คำพูดเหล่านี้เป็นแค่คำลอยลมของหมาจิ้งจอกที่บอกว่าองุ่นเปรี้ยวเท่านั้น สังเกตได้ว่าข้อความแบบนี้มักมาจากคนที่ลูกสอบไม่ติดหรือคนที่ไม่ได้ศึกษาหาความรู้ในเรื่องนี้อย่างแท้จริง แต่อะไรที่เป็นดราม่าฉันยินดีถ่ายทอด เพราะมันสนุกเร้าใจและทำให้คนอื่นไม่เด่นไปกว่าฉัน ใครจะสอบติดฉันรับไม่ได้ ดังนั้นต้องเบรกด้วยการเป่าหูแบบนี้ก่อน
อยากให้กำลังใจคุณพ่อคุณแม่ อย่าท้อถอย รักจะสู้แล้วต้องสู้ อยากให้ลูกได้เรียนก็ต้องลุย คนที่ลูกสอบติดจริงๆมีอยู่มากมาย ยกตัวอย่างผู้ที่กำลังเขียนบทความอยู่นี้ลูกสาวทั้งสองก็สอบติด เพราะคุณแม่เขาตั้งใจจริงแล้วลุยสุดๆ แล้วก็สำเร็จสอบได้
9. สามัคคี คุณสมบัติข้อนี้สำคัญมาก บางคนอาจจะแย้ง อ้าวพี่ สามัคคีมาเกี่ยวอะไรด้วย อ๊ะอ๊ะไม่รู้ล่ะสิ ว่าข้อนี้สำคัญสุดๆ สำคัญยังไง ก็คุณพ่อกับคุณแม่ต้องสามัคคีกันไง ถ้าคนนึงบอกว่าฉันจะลุย ฉันจะสู้ แต่อีกคนนึงบอกว่าสู้ไปก็เท่านั้นไม่ติดหรอก อย่าเสียเวลาเลย แบบนี้มีหวังบ้านแตก ต้องใจร่มๆ ค่อยๆ คิดค่อยๆ โน้มน้าวกันไป
เรื่องพาลูกสอบสาธิตนี้กำลังใจสำคัญที่สุด คำพูดจากนอกบ้านอาจมีผลต่อความลังเลเสียกำลังใจบ้าง แต่อย่างไรเสียก็ไม่เท่ากับคำพูดของคนในบ้าน เราต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ต้องคิดไปในทางเดียวกัน ต้องช่วยกันแบ่งหน้าที่ช่วยเหลือกัน คุณแม่อาจจะรับหน้าที่ติวลูก เพราะใกล้ชิดกับลูกมากกว่า คุณพ่ออาจจะช่วยแสวงหาแบบฝึกหัดมาให้ลูก อันไหนดี อันไหนที่เขาว่าทำแล้วพัฒนาสมองลูก อันไหนเป็นข้อสอบเชาวน์ อันไหนเป็นข้อสอบเขียนอ่านก็ต้องไปหามา หรือจะกลับกันก็ได้ แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน
งานนี้ยิ่งพ่อแม่สามัคคีกันมากเท่าไหร่ อัตราความสำเร็จก็เพิ่มทวีคูณมากขึ้นเพียงนั้น
อ่านทั้ง 9 คุณสมบัติของพ่อแม่เด็กสาธิตแบบนี้แล้ว เป็นไงกันบ้างครับ ตรงกับตัวเองบ้างไหม ยินดีด้วยนะครับหากท่านใดมีครบทั้ง 9 ข้อ ประตูโรงเรียนสาธิตกำลังแง้มๆ รอลูกของท่านอยู่แล้ว แต่ถ้าพ่อแม่คนไหนขาดข้อใดไปก็ไม่เป็นไร พยายามเติมให้เต็ม ยังพอมีเวลาอยู่ ตราบใดที่ลูกยังอายุไม่เกินก็ยังลุยได้
หากเห็นด้วยไม่เห็นด้วย หรืออยากเพิ่มเติมคุณสมบัติข้อไหนอีก คอมเม้นต์มาได้เลย ยินดีรับฟังทุกความคิดเห็นครับ ♣
ป.ล.ตัวอย่างคุณแม่ที่ตั้งใจจริง และทำได้สำเร็จ คลิกอ่านบทสัมภาษณ์
«เรื่องที่เกี่ยวข้อง»
〉แนะนำแบบฝึกหัดสอบเข้าสาธิต
〉9 เคล็ดลับ ชวนลูก ทำแบบฝึกหัด ให้สนุก และได้ผล
〉ติวกับครู หรือ ติวเองดี
〉เกณฑ์อายุสอบเข้าสาธิต
〉เราไม่ใส่ความคาดหวังลงไปในใจลูกดีกว่าไหม
〉ลุ้นผลลูกคนที่สองให้เรียนที่เดียวกับพี่
〉ความดี 7 ข้อของโรงเรียนสาธิต
〉เราได้อะไรจากการพาลูกสอบสาธิต
รบกวนสอบถามค่ะ ลูกเกิด วันที่ 3 ตุลาคม ปี2559 ตามตารางต้องสอบทั้ง ประสานมิตร, จุฬา และเกษตร ปีเดียวกัน ไม่ทราบว่าต้องสอบได้ทั้ง 3 สนาม หรือว่าต้องเลือกสนามเดียวคะ?
แนะนำว่า เลือกที่ใดที่หนึ่งดีกว่าครับ เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะสอบทั้ง 3 สนาม เพราะทั้งสามสาธิตนี้สอบวันเดียวกัน และเวลาก็ตรงกันด้วยครับ เว้นแต่ว่า สาธิตประสานมิตร กับสาธิตจุฬาฯ อาจสลับเช้าบ่ายได้ครับ
อีกอย่างก็คือ ถ้าเราเลือกแต่แรกว่า อยากให้ลูกเข้าที่ไหน ก็จะหาข้อมูลของที่นั้น มีเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะแต่ละที่เมื่อได้ศึกษาแนวข้อสอบที่ผ่านๆ มาอย่างละเอียด ก็จะรู้ว่า แต่ละที่เน้นไม่เหมือนกันด้วยนะครับ จะได้ให้ลูกฝึกทักษะให้ตรงกับสาธิตที่เราต้องการให้ลูกเข้าเรียนด้วยครับ
และอีกข้อที่สำคัญมาก พ่อแม่บางท่านอาจมองข้ามไป คือเรื่องการเดินทาง อย่าลืมว่า เมื่อลูกเราเข้าไปได้แล้ว เขาต้องไปเรียนที่นี่อย่างน้อย 6 ปี อย่างมากก็ 12 ปี เพราะสามารถเรียนตั้งแต่ ป.1 จนถึง ม.6 ได้เลย ถ้าการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียนสะดวก ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าลำบากมากๆ อยู่ไกล หรือเดินทางลำบาก ถึงแม้ว่า เรามองว่าเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดในสายตาของเราก็ตาม แต่ให้คิดถึงเวลาที่เราต้องผจญกับรถติดในการไปรับไปส่งลูกด้วย เป็นช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตที่มองข้ามไปไม่ได้จริงๆ ครับ
รบกวนสอบถามค่ะ
ลูกชายเกิด 19/5/2557 ที่สอบความพร้อมของสาธิตทุกแห่งนี่ต้องประมาณเดือนและปี ไหนคะ
และสอบจริงปีอะไรคะ
สอบสาธิตจุฬาฯกับสาธิตเกษตร มีนา 63
สอบสาธิตมศว. มีนา 62
ส่วนพรีเทสต์มศว.สอบได้ 2 ปี คือปี 61 กับ 62 ครับ
ไม่ทราบว่าการสอบสาธิต ประสานมิตร กับ พรีเทส มศว.แตกต่างกันอย่างไรครับ
ขอบคุณครับ
การสอบสาธิตประสานมิตร คือการสอบเข้าจริงๆ ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม หรือเมษายนครับ ผลสอบออกมาถ้าน้องติด ก็สามารถเข้าเรียนเป็นเด็กนักเรียนของโรงเรียนสาธิต มศว. ประสานมิตรได้เลย
ส่วนการสอบพรีเทส มศว. เป็นการสอบเพื่อทดลองเฉยๆ จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนครับ จะมีคุณพ่อคุณแม่พาเด็กจากหลากหลายโรงเรียนอนุบาลมาสมัครสอบเพื่อดูว่า ลูกของตนเอง ความสามารถ แค่ไหน มีศักยภาพพอที่ไปสอบจริงได้ไหม เป็นการทดลองให้เด็กได้สัมผัสบรรยากาศในการสอบ มีสมาธิในการสอบไหม ฟังครูอ่านข้อสอบรู้เรื่องหรือเปล่า ได้คะแนนลำดับที่เท่าไหร่ ผลสอบที่ได้เพียงแค่ได้รับรางวัลตามที่โรงเรียนกำหนดไว้เท่านั้น แต่ไม่มีผลต่อการสอบเข้าโรงเรียนแต่อย่างใดครับ
ดังนั้น ในการสอบพรีเทส มศว. จะมีเด็กจากหลากหลายที่มาสอบ เด็กบางคนที่ตั้งใจจะสอบเข้าที่สาธิตเกษตร หรือสาธิตจุฬาฯ ก็จะมาทดลองสอบพรีเทส มศว.นี้ด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมเท่านั้นเองครับ
ขอบคุณมากครับ แล้วเราสามารถ ดูกำหนดการพวกนี้ได้จากที่ไหนบ้างครับ
ดูได้ที่เว็บไซต์ของ รร.สาธิต มศว.ประสานมิตร ได้เลยครับ
หรือแวะเข้ามาดูที่ raksatit นี้ก็ได้ครับ ถ้ามีอะไร update เกี่ยวกับข่าวการสอบเข้าสาธิต เราจะนำมาแจ้งให้ทราบอยู่แล้วครับ
ขออนุญาติฝากประชาสัมพันธ์คะ
ผู้ปกครอง สาธิต มศว. ฝ่ายประถม ท่านใดสนใจตัดขุดนักเรียนหญิง วัดตัวตัด ใส่แล้วสวยงาม ติดต่อคุณสุวิมล 0875136685 หรือ 0955158877 (สุขุมวิท 48)